Last updated: 7 ม.ค. 2568 | 1267 จำนวนผู้เข้าชม |
(7 มกราคม 2568) สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรแต่ละประเภทความพิการ องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ในการจัดให้มีบริการที่เหมาะสม ณ ห้องประชุมสายลม 5011 อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงานกสทช.
โดยได้รับเกียรติจากนางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวเปิดประชุม และร่วมบรรยาย หัวข้อ “ภูมิทัศน์และแนวทางการส่งเสริมการให้บริการเพื่อคนพิการ” เพื่อเป็นข้อมูลและความเข้าใจที่ตรงกันให้กับผู้เกี่ยวข้องในการผลิตและรับบริการ การรวบรวมอัปเดตข้อมูลของประกาศฯทั้งสี่ฉบับ ประเด็นที่ได้รับความคิดเห็นเสนอปรับปรุง เช่น ประกาศกำหนดระยะเวลาการจัดทำมาตรการพื้นฐานไว้เพียง 5 ปี ประกาศไม่มีมาตรการบังคับทางปกครอง (การออกคำ สั่งเตือนทางปกครอง) เป็นต้น การพัฒนารูปแบบการจัดทำที่การส่งเสริมให้มีช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัล ที่มีบริการเพื่อคนพิการเป็นการเฉพาะ สำหรับรับชมรายการได้สะดวกตลอด 24 ช.ม. ซึ่งยังคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เช่น แนวทางดังกล่าวสามารถสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไปได้มากน้อยเพียงใด มีข้อจำกัดหรือปัจจัยใดที่อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของรายการหรือไม่ การกำหนดมาตรการกำกับดูแลสนับสนุนให้มีการผลิต หรือนำรายการโทรทัศน์ที่มีบริการล่ามภาษามือ คำ บรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ ไปเผยแพร่ผ่านช่องทางหรือแพลตฟอร์มอื่น (เพิ่มเติมจากช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอล) ที่มีบริการเพื่อคนพิการ เป็นการเฉพาะ
การแสดงความคิดเห็นในแต่ละประเภทโดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายเอกพงษ์ นบสกุล กรรมการสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับบริการเสียงบรรยายภาพ (AD) นายเกียรติศักดิ์ แผ้วมานะกุล นางสาวนัดดา มัยโรฒ ผู้แทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับบริการคำบรรยายแทนเสียง (CC) และล่ามภาษามือ (SL) ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นแนวทางการพัฒนาการให้บริการล่ามภาษามือ และการให้ความเห็นจากฝั่งผู้ผลิตและผู้ให้บริการ กรรมการจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เช่น นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี อุปนายก นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย อุปนายก นายเดียว วรตั้งตระกูล เลขานุการสมาคม นางสาวนันทพันธ์ แสงไชย กรรมการและเหรัญญิก
ซึ่งกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่การที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ได้รับฟังความคิดเห็นจากองค์กรแต่ละประเภทความพิการ องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานการดำเนินการตามประกาศฯการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นผู้จัดทำบริการ และคนพิการ ซึ่งเป็นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ได้มีความเข้าใจซึ่งกันมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันอย่างอิสระ บนความสร้างสรรค์ อันจะก่อเกิดประโยชน์ต่อความเข้าใจในการพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นไป