Last updated: 6 เม.ย 2568 | 725 จำนวนผู้เข้าชม |
การเมือง (6 เม.ย.68) ที่โรงแรมเซ็นจูลี่ พาร์ค กรุงเทพฯ นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ได้สรุปข้อเสนอภาคประชาชนในเวทีทบทวนบทบาทหน่วยงานอิสระของรัฐกับความเป็นเจ้าของคลื่นความถี่สาธารณะและการอภิปรายเรื่อง “แผ่นดินไหว-ภัยธรรมชาติ กับประสิทธิภาพการจัดการคลื่นความถี่ของรัฐบาลและกสทช.” ว่า วันนี้สังคมตั้งคำถามกับรัฐบาลและการทำงานของ กสทช.หลายเรื่องหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ไม่มีใครเตือน SMS มาช้าหลังเป็นการเป็นชั่วโมง ระบบแจ้งเตือนแบบ Cell Broadcast อยู่ที่ไหนทำไมช้าหรือใครขวางอยู่ ประเด็นประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติแต่ทำไมยังทำงานอยู่? จะมีการรีบเปิดประมูลคลื่นมือถือใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ ใครจะได้ประโยชน์
วันนี้จึงมีมีการทบทวนบทบาทหน่วยงานอิสระของรัฐกับความเป็นเจ้าของคลื่นความถี่สาธารณะ ในเวทีเครือข่ายประชาธิปไตย (ครั้งที่ 7) เรื่อง แผ่นดินไหว-ภัยธรรมชาติ กับประสิทธิภาพการจัดการคลื่นความถี่ของรัฐบาลและกสทช. โดยเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยหลังจากรับฟังความเห็นภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมีข้อเรียกร้องดังนี้
1.กรณีแผ่นดินไหวอุบัติภัยธรรมชาติไม่ทันตั้งตัว ปรากฎว่าทัวร์ลง ประธาน กสทช. หลังจากส่ง SMS แจ้งเตือนแผ่นดินไหวถึงประชาชนช้ามาก มีประเด็นพิพาทภายในและมีหนังสือฯ สั่งการว่าหากกรรมการ กสทช. จะให้สำนักงานดำเนินการใดๆ ต้องให้ประธานมอบหมายคนเดียว เป็นเรื่องวุ่นๆ ภายใน กสทช.ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ ประธานและรักษาการเลขาธิการโดนต่อว่าเยอะมากว่าที่ผ่านมาทำงานเพื่อใคร และอ้าง ปภ.ส่งข้อความมาให้ช้าหลังแผ่นดินไหวผ่านไปชั่วโมงกว่า ส่วนระบบ Cell Broadcast Service ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่อทดลองปฏิบัติการแล้วกว่าระบบปฎิบัติการของรัฐจะพร้อมก็หลังกลางปีนี้ ซึ่งมีข้อครหาว่ามีที่ปรึกษาประธาน กสทช. คนหนึ่งตั้งโต๊ะเรียกเก็บเงินโครงการนี้
ผมเสนอให้นายกรัฐมนตรีควรปลดประธาน กสทช. โดยเร็วเพราะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอในช่วงวิกฤติอุบัติภัย ขาดประสิทธิภาพการทำงาน มีเรื่องวุ่นๆ ภายใน กสทช.มากมาย ทั้งเรื่องประธานขาดคุณสมบัติซึ่งเป็นฟางเส้นสุดท้าย จึงอยากถามว่าประธาน กสทช.จะลาออกกี่โมง ฝากสื่อมวลชนไปถามด้วย ท่านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว
2.ปัญหาคุณสมบัติประธาน กสทช. ที่ยืดเยื้อมานานนั้น สังคมทราบดีว่า คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา วุฒิสภา วินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 มติที่ประชุมเห็นชอบผลการตรวจสอบและนำกราบเรียนประธานวุฒิสภา และที่ประชุมวิสามัญคณะกรรมาธิการวุฒิสภามีมติรับทราบรายงานดังกล่าวในวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 จึงเป็นการรายงานให้วุฒิสภาทราบตามข้อ 77 ส่งผลให้ ผลการวินิจฉัยข้อเท็จจริง กระบวนการและรายงานสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องให้ประธาน กสทช. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที และต้องมีการตรวจสอบว่าผลการพิจารณาต่างๆ หลังวันที่ 5 กรกฎาคม เป็นโมฆะด้วยหรือไม่ และต้องคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนทั้งหมด
ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.กสทช. เป็นอำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานส่งสำนักงานองคมนตรีเพื่อทูลเกล้าให้ปลดออกจากตำแหน่ง แต่นายกไม่ดำเนินการ ปล่อยให้ประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยไม่มีอะไรรองรับ ถือเป็นการร่วมกันกระทำผิดและปกปิดแล้วก้าวล่วงพระราชอำนาจ
เรื่องนี้ ครป. เคยยื่นหนังสือติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ถึงเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ยื่นรายงานการตรวจสอบของวุฒิสภาถึงสำนักงานองคมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 20 พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรียังไม่ดำเนินการใดๆ โดยปล่อยให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมากว่า 8 เดือน เรื่องคุณสมบัติขณะนี้เรื่องถึงองคนตรีแล้ว นายกทำไมต้องละเว้นและจะรับผิดชอบอย่างไร
นอกจากนี้ คดีฟ้องร้องอาจารย์พิรงรอง กรรมการกสทช.ที่รออุทธรณ์ มีข้อครหาว่ากลุ่มทุนกับคนในสมคบคิดกันสกัดกั้นเสียงข้างน้อยที่ออกมาสกัดทุน และคดีความในกสทช. ที่เป็นเรื่องวุ่นๆ อีกมากมายจากการดำเนินการของประธาน ไม่ว่าจะเป็นการขัดมติบอร์ดยกเลิกหนังสือตอบกฤษฎีกาตีความเรื่องคุณสมบัติ การควบรวม True-Dtac, AIS-3BB การสนับสนุนฟุตบอลโลก 600 ล้านบาทจากกองทุนแต่กลับให้กลุ่มทุนใช้เงินภาครัฐแสวงหาผลประโยชน์ การแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการโดยต่อสัญญาคนของตัวเองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช้มติบอร์ดทั้งคณะ มีการพยายามรวบอำนาจของประธานและต่อสัญญาเจ้าหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแต่งตั้งภรรยาของเอกชนรายใหญ่ ที่มีส่วนได้เสียในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. มาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักประธานและการประชุม ผมอยากทราบว่าทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรีและประธาน กสทช. มีผลประโยชน์ร่วมกันกับใครหรือไม่
3.เรื่องการประมูลคลื่น จากการที่สำนักงาน กสทช.ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2 โดยมีหัวข้อที่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล ความเหมาะสมของวิธีการประมูลและการจัดกลุ่มคลื่นความถี่ เพื่อให้ส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ ความเหมาะสมของมูลค่าคลื่นความถี่และวิธีการคำนวณ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Reserve price) ความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่และการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมทั้ง 5 ย่านสำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ และ 5.) ความเหมาะสมของการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดำเนินการเพื่อสังคม และการคุ้มครองผู้บริโภคฯ นั้น
วันที่ 4 เมษายน 2568 วันสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ของกสทช. ครป.ได้ทำได้หนังสือขอคัดค้านการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้เลื่อนออกไปเพื่อปฏิรูป กสทช.ก่อน และแก้ไขปัญหาการขาดคุณสมบัติของประธาน กสทช.ให้แล้วเสร็จก่อนจัดประมูลครั้งใหม่โดยมีการแก้ไขปัญหาการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมให้แล้วเสร็จก่อน
การจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดในคราวเดียว สุ่มเสียงนำไปสู่การผูกขาดคลื่นความถี่โดยกลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันยังมีคู่แข่งน้อยรายในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นตลาดผูกขาดที่ไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่และไม่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อีกทั้งทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นของรัฐ ยังไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดที่จะมีการเสนอให้มีคลื่นความถี่บางส่วนเพื่อเอามาทำเรื่องบริการสาธารณะ โดยให้ประชาชนใช้ฟรีในพื้นที่สาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพราะเป็นทรัพยากรของส่วนรวมโดยรัฐต้องดูแลและควบคุม มิให้เอกชนหารายได้และผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวและโดยการปล้นประชาชน รวมถึงการให้รัฐวิสาหกิจและผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่มีคลื่นเป็นของตัวเองนำคลื่นไปใช้เพื่อการให้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา วุฒิสภา วินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุดในวันที่ 28 พ.ค.2567 จึงมีมติที่ประชุมเห็นชอบและนำเรียนประธานวุฒิสภา ผลการขาดคุณสมบัติและกระบวนการจึงสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ที่ประธานวุฒิสภารับทราบ มีการประกาศผลทางเว็บไซต์วุฒิสภาดังที่ปรากฏ รวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบด้วย แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าประธาน กสทช. กลับยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที และต้องมีการตรวจสอบว่าผลการพิจารณาต่าง ๆ ว่าอาจเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ และต้องคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนทั้งหมด ซึ่งสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการต่อประเด็นการขาดคุณสมบัติดังกล่าว และยังปล่อยให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อ ดังนั้น จึงสมควรรอให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงก่อนจะมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของชาติบ้านเมือง และต้องเกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง