ครึ่งทางทีวีดิจิทัล กับภารกิจของกสทช. ผ่านมุมมอง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  1995 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ครึ่งทางทีวีดิจิทัล กับภารกิจของกสทช. ผ่านมุมมอง ศ.ดร.พิรงรอง  รามสูต

 

 

 

ครึ่งทางทีวีดิจิทัล กับภารกิจของกสทช.

ผ่านมุมมอง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

 
 

ณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเทศไทย นับจากวันเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 9 ปี สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) มีโอกาสได้สัมภาษณ์และสะท้อนมุมมองของ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ที่มีต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง ถือเป็นกรรมการชุดที่ 2 ของกสทช. ที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5 แนวทางด้วยกัน คือ

1. คืนใบอนุญาต หรือพูดอีกแบบคือออกไปจากอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการยกเลิกใบอนุญาต 2 ช่องรายการ และมีอีก 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตตามเงื่อนไขของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ในบรรดาช่องที่เลิกไป รวมช่องรายการสำหรับเด็กทั้งหมดด้วย
2. ลดต้นทุน ทั้งในแง่องค์กร ปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนบุคลากร และลดต้นทุนด้านเนื้อหา เช่น มีการนำเนื้อหาจาก social media มาเล่าต่อ หรือการขยี้ข่าว ใช้เนื้อหาแบบเร้าอารมณ์ เป็นต้น กรณีเช่นนี้เกิดคำถามว่าคุณค่าที่จะสร้างขึ้น คุณค่าที่จะได้ และความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร 
3. ปรับตัวด้วยการพัฒนาในด้านเนื้อหา มีการสร้างเนื้อหา originals ที่มีคุณค่า สามารถขายลิขสิทธิ์รายการเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นทั้งในไทยและต่างประเทศได้ บางช่องมีรายได้จากการขาย IPs มากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากการโฆษณาเป็นหลักเหมือนแต่ก่อนแล้ว
4. ปรับตัวทางเทคโนโลยี เพิ่มช่องทางการเผยแพร่เนื้อหาไปสู่ออนไลน์ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งเนื้อหาออกทางหลายช่องทาง เช่น ใช้ social media และมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเก็บข้อมูลและการหารายได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ แต่ละช่องมีระดับของการขยับและความเข้มข้นในการใช้ช่องทางที่หลากหลายนี้ไม่เหมือนกัน 
5. เพิ่มช่องทางการหารายได้จากธุรกิจอื่น ผู้ประกอบการบางรายได้เปลี่ยนโมเดลการหารายได้ทางธุรกิจไปเลย เช่น หารายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้วใช้สื่อโทรทัศน์ในการสร้างฐานลูกค้า ซึ่งก็มีมีวิธีการเก็บข้อมูลของลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แตกต่างกันไป 
“นอกจากการปรับตัว 5 แบบที่กล่าวมาแล้ว คิดว่าการมองหาโอกาสและทางเลือกใหม่ ๆ เช่น การร่วมผลิตกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีศักยภาพ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้อยู่รอดและพัฒนาเติบโตได้ ซึ่งสถานการณ์ภายในของแต่ละองค์กรเป็นสิ่งที่ยากจะประเมินได้ ทั้งในส่วนของช่องโทรทัศน์สาธารณะ และช่องที่เป็นเอกชน แต่กสทช. จะพยายามหาทางออกในเชิงระบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากดิสรัปชั่นให้กับผู้รับใบอนุญาตในทุกกลุ่ม”

 

วางแนวทางกำกับดูแล OTT แพลตฟอร์ม

ในมิติของการกำกับดูแล ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง ให้ความเห็นว่า หากมองในมิติพื้นที่ของการประกอบกิจการ จะเห็นว่ามีการวางหลักเกณฑ์และดำเนินการสำหรับการประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค ส่วนในกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ คือ เคเบิล ดาวเทียม และไอพีทีวี แต่จุดที่ยังไปไม่ถึงคือระดับท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการให้อนุญาตประเภทบริการชุมชน และขณะนี้ก็กำลังเร่งผลักดันเพื่อให้เกิดขึ้นจริง 
ในอีกมิติหนึ่ง ขณะนี้ในอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย อาจแบ่งได้เป็น Service, Network, Facility และ Application ซึ่งตอนนี้ เราได้เห็นความท้าทายจาก Application หรือ OTT ซึ่งเข้ามามีบทบาทอย่างมากในภูมิทัศน์สื่อ โดยเฉพาะ OTT ต่างชาติ 
“คำถามว่าจะทำอย่างไรให้กฎระเบียบต่างๆ เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่ง กสทช. ก็กำลังศึกษาเพื่อดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่”

อีกเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์สู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบและบทบาทของ กสทช. ในการเอื้อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนต้องปรับตัวสู่ online รวมถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ด้วย เพราะผู้บริโภคบางส่วนได้ย้ายไปใช้บริการทาง online แล้ว ผู้ให้บริการก็ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับการเข้ามาของแพลตฟอร์มจากต่างชาตินั้น ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาและเสนอทางออกในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตามต้องมีการแก้ไขกฎหมายและต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนด้วยกัน
ทั้งนี้ หลักการตามพันธกิจของ กสทช. คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมและศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้เล่นในภูมิทัศน์/เทคโนโลยีสื่อที่ปรับเปลี่ยน พร้อมๆ กับการส่งเสริมความเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งเชิงโครงสร้างการดำเนินการและเนื้อหาสื่อ เพื่อความยั่งยืนอย่างเหมาะสมในทางเศรษฐศาสตร์ด้วย

แต่ตอนนี้ อำนาจที่ กสทช. มีตามกฎหมายนั้น ครอบคลุมเพียงการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นและไม่ใช้คลื่น และการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งยังไม่รวมไปถึง Internet และ OTT platform ซึ่งตอนนี้ OTT platform ที่ให้บริการสื่อโสตทัศน์ ก็ยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดเลย โดยผลของช่องว่างทางกฎหมาย ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์จำนวนมากว่า ในขณะที่พวกเขาถูกกำกับโดยเงื่อนไขและกฎระเบียบมากมาย แต่ OTT platform โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศกลับไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เหล่านี้ ทำให้ผู้ประกอบกิจการทีวีทั่วไปรู้สึกว่าเสียเปรียบ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางส่วนก็อาศัยช่องว่างนี้เองในการเผยแพร่เนื้อหาผ่าน OTT

ตอนนี้มีแนวคิดของผู้ประกอบการบางส่วนเสนอเรื่องแพลตฟอร์มแห่งชาติ (National Platform) โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นเหมือนกล่องทีวีดิจิทัล แต่เป็นในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ททีวี และเป็น OTT อยู่บนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเป็นแอปพลิเคชั่นฟรีอยู่บนโทรศัพท์มือถือที่ประชาชนสามารถรับชมได้ฟรี พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นแนวทางในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับประชาชนในการเข้าถึงเนื้อหารายการทีวี นั่นเป็นแนวทางหนึ่ง ขณะที่อีกแนวทางหนึ่ง เสนอในลักษณะการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับผู้ให้บริการในการจัดเก็บและบริหารจัดการเนื้อหารายการทีวี

แค่เฉพาะสองแนวทางนี้ จะเห็นว่า บทบาทของแพลตฟอร์มก็จะแตกต่างกัน คือ แพลตฟอร์มในแนวทางแรกเรียกได้ว่าเป็น “ผู้เล่น” ในอุตสาหกรรม OTT แพลตฟอร์ม ส่วนแนวทางที่สอง เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ในอุตสาหกรรม แต่ทั้งสองแนวทางต้องการความร่วมมือทั้งในส่วนผู้เล่นในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล และต้องสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อขยายศักยภาพของแพลตฟอร์มในการรองรับจำนวนผู้ใช้และจำนวนเนื้อหารายการ

“ทั้งสองแนวทางนี้ยังมีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อนในหลายเรื่อง และเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการพูดคุยกับอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตของระบบนิเวศสื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรองระบุ

ประเด็นร้อน Must Have, Must Carry

สำหรับประเด็นร้อนเรื่องลิขลิทธิ์การถ่ายทอดบอลโลกครั้งที่ผ่านมา กับปัญหาในการบังคับใช้กฎ Must Have และ Must Carry ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ด้วยข้อถกเถียงในหลายเรื่องและบริบทที่เปลี่ยนแปลงในหลายด้าน กสทช.จึงมีมติให้ศึกษาทบทวนประกาศฉบับนี้เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษครั้งที่ 7/2565 มีมติให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาทบทวนประกาศ Must Have และ Must Carry ต่อมาในการประชุม กสทช. นัดพิเศษครั้งที่ 7/2566 วันที่ 23 มีนาคม 2566 ก็มีมติให้ยกเลิกประกาศ Must Have โดยให้นำไปรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเป็นเวลา 30 วัน
เหตุผลที่ กสทช. จะยกเลิกประกาศ Must Have มีหลายประการ เริ่มตั้งแต่เหตุผลที่ว่ารายการกีฬาเป็นรายการที่มีมูลค่าทางการตลาดซึ่งผู้ซื้อลิขสิทธิ์สามารถนำไปแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ การที่รายการประเภทนี้มีความนิยมมากขึ้นทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดตามประกาศ Must Have ต่อเนื่องมายังประกาศ Must Carry แม้จะเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะแต่ก็มีลักษณะแทรกแซงตลาด ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะไม่ซื้อลิขสิทธิ์เอง และที่ผ่านมา กสทช. ต้องพิจารณาสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อลิขสิทธิ์ในบางรายการ
นอกจากนี้ ด้วยพฤติกรรมและช่องทางการรับชมเนื้อหารายการที่ปัจจุบันมีการรับชมผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วย ในขณะที่ผู้ชมบางส่วนรับชมผ่านช่องดาวเทียมรุ่นเก่าซึ่งไม่สามารถเข้ารหัสสัญญาณได้ เมื่อมาเจอกับเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์ทำให้บางครั้งผู้รับอนุญาตในกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ไม่สามารถทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหาได้ตามประกาศ Must Carry ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการฟ้องร้องกันหลายกรณี 
และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงอีกข้อที่ว่าในบางรายการแข่งขัน เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีการขายลิขสิทธิ์การแข่งขันพ่วงการแข่งขันกีฬาอื่น และผู้จัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จะกำหนดเงื่อนไขในการถ่ายทอดสดโดยกำหนดให้ผู้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดต้องนำการแข่งขันกีฬาดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับชมการแข่งขันขันได้โดยอาจกำหนดให้ผู้รับสิทธิ์ต้องนำรายการแข่งขันไปออกอากาศผ่านบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินด้วยอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเสนอในหลักการให้ยกเลิกประกาศ Must Have ทั้งฉบับ

ที่ผ่านมา กสทช. ได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาสถานการณ์และปัญหาในการบังคับใช้ประกาศ Must Carry และ ประกาศ Must Have ซึ่งต่อไปจะมีการทบทวนกฎ Must Carry  เพราะการมีกฎ Must Carry มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน และยังต้องการข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. จัดทำแบบสอบถามการศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคในการปรับปรุงประกาศ Must Carry ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ผลการสำรวจนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลในการประกอบการพิจารณาของ กสทช. ในอนาคต

 

วางแนวทางส่งเสริมทีวีดิจิทัลในอนาคต

สำหรับแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัลในอนาคตนั้น ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง ขอแสดงความเห็นแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นแนวทางส่วนตัวที่มีต่อการพัฒนากิจการโทรทัศน์ที่เห็นว่ามี 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การกำกับดูแลเป็นแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์และมีข้อมูลรองรับ (Evidence-based Regulation) 2. การกำกับดูแลร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและการส่งเสริมการกำกับดูแลตนเอง/ดูแลกันเอง รวมถึงส่งเสริมความสามารถและรอบรู้ทางดิจิทัลของผู้ใช้สื่อ (Digital Competence) 3. การส่งเสริมอุตสาหกรรมและศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้เล่นในภูมิทัศน์/เทคโนโลยีสื่อที่ปรับเปลี่ยน และ 4. การส่งเสริมความเท่าเทียมและเป็นธรรมทั้งเชิงโครงสร้าง การดำเนินการและเนื้อหาสื่อ 
ส่วนที่สอง ภายใต้ 4 แนวทางข้างต้นได้บูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ กสทช. เกี่ยวกับการพัฒนากิจการโทรทัศน์ปรากฏอยู่ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 แผนนี้เป็นแผน 5 ปี ระหว่าง ปี 2563-2568 กสทช. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขแผนซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งทางคือเหลืออีกสองปีครึ่งถัดจากนี้ไปเพื่อให้เหมาะสมกับพลวัตของระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2566 กสทช.จึงได้เห็นชอบร่างประกาศปรับปรุงแผนฯ เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในแผนฉบับนี้นำเสนอยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การพัฒนากิจการโทรทัศน์ให้เข้าสู่มาตรฐานสากลสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล ซึ่งในด้านนี้ อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาวิจัยเพื่อแสวงหา scenario ที่เหมาะสมสำหรับอนาคต มีการทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันข้ามแพลตฟอร์ม การศึกษาแนวทางและกลไกการกำกับดูแลแพลตฟอร์มผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ให้สามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ แข่งขันได้ในตลาดสากล ตรงนี้ กสทช. มีแผนที่จะส่งเสริมและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อหาที่เทียบเคียงระดับสากลของผู้ผลิตโทรทัศน์ เช่น co-production การสร้างแรงจูงใจ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อกระตุ้นการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ

ด้านยุทธศาสตร์การส่งเสริมและกำกับดูแลด้านเนื้อหา มีแนวทางที่จะพัฒนาระบบ social credit เพื่อส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมควบคู่กับการตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นปัญหาในการกำกับดูแล ตัวอย่างแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหารายการของปีนี้ อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 คาดว่าช่วงปลายปีน่าจะสามารถเปิดรับโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนโดยจะเน้น 3 กลุ่มคือ กลุ่มรายการสำหรับเด็กและเยาวชน กลุ่มรายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม และกลุ่มรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศซึ่งจะเป็นแถวหน้าในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทยไปอีกขั้นและจะได้เป็นการส่งเสริมการส่งออกเนื้อหาสื่อของไทยไปสู่ระดับสากล

 

อนาคตของทีวีดิจิทัลอีก 6 ปีข้างหน้า

สำหรับช่วง 6 ปีที่เหลือของใบอนุญาต ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ตามความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง มองว่า การจะไปต่อได้จนใบอนุญาตหมดอายุหรือไม่ น่าจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และการปรับตัวของผู้ประกอบการ และ ต้องไปดูว่าบทบาทและความจำเป็นของการดำรงอยู่ของโทรทัศน์ดิจิทัลในสังคมไทยและสังคมโลกมีอยู่บนพื้นฐานของอะไร อะไรคือจุดแข็งและประโยชน์ที่จะสร้างให้กับสังคม 
สำหรับการดำรงอยู่ของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (linear TV) ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารในระดับสาธารณะ คุณค่าและความหลากหลายของเนื้อหาที่โดดเด่นในเชิงคุณค่าและแตกต่างจากเนื้อหาโสตทัศน์ (audio-visual) บนแพลตฟอร์มอื่น การนำเสนอเนื้อหาเพื่อผู้รับสารโดยทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่ม และการปรับตัวในทุกมิติของผู้ประกอบการและนักวิชาชีพ
ทั้งนี้ มีข้อเสนอทางออกบางประการสำหรับทีวีภาคพื้นดินที่จะประกอบกิจการต่อไป เช่น ควรเน้นทำรายการถ่ายทอดสด เช่น รายการแข่งกีฬา การประกวด รายการเรียลิตี้ที่มีการเปิดโหวต นับคะแนน ควรเปิดให้ลงโฆษณาแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target Advertising) โดยเฉพาะในระดับครัวเรือน ควรพัฒนานวัตกรรมในการสื่อสาร สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชม โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ผลิตเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงผ่าน “จอที่ 2” ควรวางบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในภาพกว้างและเชิงลึกในการนำเสนอข่าวสาร เนื้อหา ประเด็นใหญ่ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ต้องเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ และเป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ผู้ชมเลือกที่จะพึ่งพา ควรเผยแพร่เนื้อหาแบบ Hybrid ควบคู่กันไป ทั้งผ่านทีวีภาคพื้นดินและ OTT เป็นต้น

ส่วนอนาคตหลังสิ้นสุดใบอนุญาต กสทช. จะใช้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการโทรทัศน์ จะใช้วิธีการประมูล วิธี Beauty Contest หรือวิธีอื่นๆ อย่างไรนั้น ยังต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อ ณ เวลานั้นๆ และในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงการจะทำให้ได้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติและความสามารถนำเสนอเนื้อหาได้ตรงกับความต้องการของสังคมด้วย 
“อันที่จริงเราจะดูแค่ตามโจทย์นี้ไม่ได้ เพราะการมองประเด็น ต้องเป็น futuristic study ดูโครงสร้างอุตสาหกรรม broadcasting และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซอุปทานให้รอบด้าน เปรียบเทียบเมื่อครั้งย้ายจากระบบ analog มา digital คราวนี้จะย้ายจาก digital terrestrial TV ไปสู่อะไร เป็นระบบ hybrid หรือจะเป็น online only หรืออย่างอื่น อนาคตยังจำเป็นต้องมี กสทช. หรือไม่ ในอนาคต กสทช. จะกำกับดูแลไปถึง online และ OTT หรือเปล่า
ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง มีความเห็นว่าเราจะต้องหาคำตอบโดยเร็วใน 3 เรื่อง คือ 1. ศึกษาแนวโน้มทางเทคโนโลยีดิสรัปชั่นและการปรับเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์ ซึ่งในอีก 7 - 8 ปี จะมีสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินเท่าไหร่ มีการรับชมผ่านดาวเทียมหรือเคเบิ้ลเท่าไหร่ ผ่าน IPTV หรือแพลตฟอร์ม OTT เท่าไหร่ 2. ต้องดูโครงสร้างอุตสาหกรรม broadcasting ที่เป็นอยู่และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซอุปทานให้รอบด้าน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และ 3.เรื่องทรัพยากร คลื่นความถี่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
หากมองตามปัจจัยด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีแล้ว มีแนวโน้มที่จะต้องลดจำนวนช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินลง ในทางเทคนิคแล้ว หากจะต้องปรับคุณภาพการออกอากาศเป็น HD หรือ 4K ทั้งหมด ต้องใช้ bandwidth และทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งทรัพยากรคลื่นความถี่ก็เป็นสิ่งที่มีจำกัด เมื่อต้องใช้เยอะขึ้นก็สามารถรองรับจำนวนช่องได้น้อยลง นอกจากนี้ ในเชิงนโยบาย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) มีแผนที่จะจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการใช้งานด้านโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการใช้งาน 5G หากช่วงคลื่นที่จะใช้กับกิจการโทรทัศน์ลดลง จำนวนช่องที่รองรับได้ก็จะลดลงตามไปอีกเช่นกัน
ปัจจุบัน ทีวีดิจิทัลใช้คลื่น 470-694 MHz การออกอากาศใช้ช่องความถี่กว้างช่องละ 8 MHz ทำให้มีช่องความถี่รวม 28 ช่อง เพียงพอสำหรับ 5 MUX ซึ่งยังใช้ไม่เต็มความจุ เพราะแต่ละ MUX สามารถบรรจุช่องรายการได้สูงสุดจำนวน 4 ช่อง HD หรือ 12 ช่อง SD แต่หากเปลี่ยนระดับคุณภาพการออกอากาศเป็น 4K แล้ว แต่ละ MUX จะรองรับได้เพียง 1 ช่อง 4K เท่านั้น คือจะรองรับได้ 5 ช่อง 4K แต่หากอนาคตมีการหดคลื่นความถี่ลงเพื่อนำย่าน 600 MHz ไปใช้สำหรับโทรคมนาคม เช่น 5G จะเหลือคลื่นเพียงช่วง 470-614 MHz ซึ่งหายไปประมาณ 35% และจะรองรับช่องทีวี 4K ได้เพียง 3 ช่องเท่านั้น 
“การจะปรับลดและจัดสรรอย่างไร ก็จะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้าน เช่น เทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป” ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรองกล่าวทิ้งท้าย

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้