Last updated: 14 พ.ค. 2566 | 1031 จำนวนผู้เข้าชม |
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ร่วมกับ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จับมือ อาสาพัฒนาการเมือง ร่วม 32 สื่อ รายงานผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แบบเรียลไทม์ (คะแนนต่อคะแนน)
22 พ.ค.นี้ “อดิศักดิ์” เผย ใช้อาสา 2,500 คน ลงหน้าคูหา 1 ทุ่ม รู้ผล 80% ก่อน กกต.แน่ ส่วน ส.ก.ใช้แบบนับคะแนนหน้าหน่วยเสร็จ
วันนี้ (18 พ.ค.) ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, อาสาพัฒนาการเมือง และ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดตัวโครงการรายงานคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2556 (อย่างไม่เป็นทางการ) ร่วมกับ 32 องค์กรสื่อมวลชน โดยมี นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ตัวแทนสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการโครงการ, นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, นายสุรพล แน่งน้อย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ดูแลกลุ่มอาสาพัฒนาการเมือง ร่วมแถลงข่าว
โดย นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งสำคัญ หลังจากห่างการเลือกตั้งของ กทม.ไป 9 ปี ในฐานะสื่อมวลชนครั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องรายงานผลคะแนนแบบทันเวลา ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งเป็นการร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยได้รับการสนับสนุนจาก กมธ.พัฒนาการเมือง และหลายสถาบันการศึกษาที่รวบรวมอาสาสมัครให้ประมาณ 2,500 คน รวมทั้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ที่สนับสนุนระบบการรายงานผลผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะนำเข้าคะแนนจากหน้าหน่วยเลือกตั้ง, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
ผู้จัดการโครงการ กล่าวต่อว่า โดยความร่วมมือดังนี้เราได้หารือในกลุ่มของสื่อที่ทำข่าวการเลือกตั้ง เพื่อให้การรายงานผลคะแนนเป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะหากรอคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะค่อนข้างช้า ในขณะที่ กทม.อยากรู้ผลโดยเร็ว ทางโครงการจึงจะส่งอาสาสมัครลงไปที่คูหาเลือกตั้ง 2,500 คน จากทั้งหมด 6,817 หน่วย ทั่วกรุงเทพฯ และรายงานแบบเรียลไทม์จากกระดานนับคะแนนแบบ 1 ต่อ 1 โดยให้อาสาสมัครกดคะแนนบันทึกลงในแอปพลิเคชันเมื่อมีการขานคะแนนราว 2,500 หน่วย หรือ 1 ใน 3 ของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งก็เพียงพอที่จะยืนยันว่าใครพอที่จะมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง
“หลังจากนั้น ก็จะรายงานคะแนนที่เป็นยอดรวมของหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด มารวมกันเพื่อเป็นยอดรวมของคะแนนทั้งหมด เพื่อให้คะแนนมาสมทบกัน ซึ่งเชื่อว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง จะครบถ้วนหมดทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ทุกเขต ซึ่งสื่อที่มีความร่วมมือก็จะได้คะแนนจากต้นทางแบบเดียวกัน แล้วจะนำไปนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ขณะที่อาสาสมัครก็จะถ่ายรูปกระดานคะแนนจากหน้าหน่วยเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและเก็บเป็นหลักฐานเผื่อว่าหน่วยใดมีปัญหาในการโต้แย้งต่างๆ ก็จะสามารถใช้อ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง” นายอดิศักดิ์ กล่าว
ผู้จัดการโครงการ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อาสาสมัครจะไปประจำการหน้าหน่วยก่อน 16.00 น. หลังจากนั้น ก็จะเช็กอินถ่ายรูปหน้าหน่วยเลือกตั้งเพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในพื้นที่จริง สามารถตรวจสอบเป็นรายหน่วยเลือกตั้งได้ แล้วเริ่มรายงานได้ราว 17.15 น. และคาดว่า คะแนนแบบเรียลไทม์ จะเข้ามาในเวลา 18.00 น. สื่อก็จะสามารถนำไปรายงานต่อได้ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ไม่มีอคติ ตรวจสอบได้ และเร็วกว่า กกต.แน่นอน เชื่อมั่นว่า ได้ทราบผลการเลือกตั้ง 80% ราวๆ 19.00 น. โดยจะเปิดเผยผลการเลือกตั้ง 95% ส่วนการเลือกตั้ง ส.ก.นั้น ไม่มีการรายงานแบบเรียลไทม์ ใช้แบบการนับเสร็จแล้วส่งผลคะแนนรวม ซึ่งอาจจะช้ากว่าเล็กน้อย
ด้าน นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ การเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนจับตามากๆ ทั้งตัวเลขคะแนน การรายงานข่าวจากหน้าเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ ตนเชื่อว่า จะเป็นสื่อกลางในการยืนยันหากมีเหตุผิดปกติคลาดเคลื่อน เป็นจุดสำคัญในการตรวจสอบ และดูข้อมูลต่างๆ
ขณะที่ นายปดิพัทธ์ กล่าวถึงการคัดเลือกอาสาสมัครว่า มี 3 รูปแบบ แบบแรกคือ กลุ่มที่ผ่านการอบรมเข้มข้นและเป็นองค์กรสังเกตการเลือกตั้งแบบมืออาชีพ ก็จะดูทั้งกระบวนการ ทั้งกฎหมาย ภาพรวม และรายละเอียด ส่วนกลุ่ม 2,500 คนจะต้องทำทักษะ 2 อย่าง คือ กดคะแนนเรียลไทม์ และถ่ายรูปหลักฐาน ตอนแรกก็จะร่วมกับทางสถาบันการศึกษา แต่ตอนนี้ใช้ระบบประชาชนทั่วไปมาใช้ตรวจสอบ โดยต้องผ่านการอบรมเพราะต้องมีทักษะการกดเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด ส่วนสุดท้ายคืออาสาไม่ต้องผ่านการอบรม เพียงแค่เข้าไปบันทึกหลักฐานในเว็บไซต์ vote62 พอทุกภาคีทำงานร่วมกันก็จะได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่คู่ขนานไปกับ กกต. ไม่ได้ว่าเราไม่ไว้ใจ แต่ว่าการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 เราไม่มีหลักฐานของคะแนน จึงจำเป็นที่ต้องทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส
ขอบขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์ และ Spring
31 ส.ค. 2567