Last updated: 11 ต.ค. 2567 | 1346 จำนวนผู้เข้าชม |
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล นับหนึ่ง THACCA
วางรากฐานซอฟต์พาวเวอร์ไทย
ท่ามกลางเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมของคนเสพคอนเทนต์เปลี่ยนไปด้วย ทุกวันนี้เราไม่ได้แค่เสพคอนเทนต์แค่ในประเทศ แต่เราเข้าถึงคอนเทนต์จากทั่วโลก ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่ต้องปรับตัว ด้วยทุนทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหลากหลาย การผลักดันออกสู่ตลาดโลก จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้แข็งแกร่ง
กองบรรณาธิการ มีโอกาสสัมภาษณ์ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ คุณชายอดัม หนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยนั่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานอนุกรรมการภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชั่น ถึงแนวทางในการวางรากฐานของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยครั้งสำคัญ ในนาม Thailand Creative Content Agency หรือ THACCA เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลก
“เราต้องเริ่มจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศก่อน สภาพของอุตสาหกรรมของเราวันนี้ เหมือนไม่มีถนน แต่มีรถวิ่ง เราต้องสร้างถนน ต้องให้มีถนน เพื่อให้ความเจริญเข้าไปถึง เหมือนมีโทรศัพท์แต่ไม่มีสัญญาณ ก็ต้องไปตั้งเสา งานภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเมชั่น ก็เหมือนกัน ยังไม่มีโครงสร้าง ระบบ ที่ชัดเจน และเหนียวแน่นต้องสร้างใหม่” คุณชายอดัมกล่าว
เทรนด์โลกเปลี่ยน เราต้องปรับ
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์โลกเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เทรนด์ของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่เป็นผู้บริโภค แต่เปลี่ยนในเชิงประชากร ซึ่งผู้บริโภควันนี้ ไม่ใช่แค่ประชากรไทย แต่เป็นประชากรโลก เราสามารถเข้าถึงทุกคอนเทนต์ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ไทย แต่เป็นคอนเทนต์โลก ดูได้จากงาน Netflix งานที่คนไทยผลิต มีคนเสพทั้งโลก อเมริกา ยุโรป สเปน หรือรายการทีวีเกาหลีก็เข้ามาอยู่ในไทยได้ โลกเราเข้าใกล้กันมากขึ้น การรับชมก็เปลี่ยนไป รับชมสิ่งที่ดีที่สุดของโลก ดังนั้นการสร้างคอนเทนต์ไทย ต้องคำนึงว่าเราเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์สำหรับโลก
นอกจากนี้ เครื่องมือที่ใช้ในการรับชมก็เปลี่ยนไปด้วย เดิมเราดูทีวี ต้องดูหลังเลิกงาน เรามีเวลาสั้นลง สภาพเศรษฐกิจ สังคม การแข่งขันในเวทีโลก การเข้ามาของคลิปวิดีโอสั้น อย่าง TikTok Reels
“ตอกย้ำว่าเรามีเวลาสั้นลงในการเสพคอนเทนต์ ดังนั้นคอนเทนต์ที่สั้น หรือ ยาว ต้องมีคุณค่า สร้างความน่าสนใจได้เพียงพอสำหรับกลุ่มเป้าหมาย นี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป”
“ทุกคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หมด” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี กล่าว ขึ้นอยู่กับหลักการว่าเราจะนำเสนออะไรต่างหาก เราต้องการให้เกิดเป้าหมายอย่างไร ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเพียงแนวคิด เช่น เราต้องการให้คนท่องเที่ยว เราก็เน้นเรื่องท่องเที่ยว หรือถ้าเราอยากทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่รักสงบ ต้องการกระตุ้นเรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือมีคนเก่งนวัตกรรมเยอะ เมื่อเรามีเป้าหมาย เราก็ทำคอนเทนต์ที่จะสื่อไปตรงนั้นได้ ดังนั้น คอนเทนต์อะไรที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์เราไม่สามารถตอบได้อยู่แล้ว เพราะซอฟต์พาวเวอร์เป็นแนวคิด อยู่ที่การนำแนวคิดนั้นไปวางกรอบไว้
วางรากฐานขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมไทย
คุณชายอดัม กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีวิธีการที่สร้างสรรรค์คอนเทนต์ มีทุนวัฒนธรรม แต่สองอย่างยังไม่ค่อยบรรจบกัน เรามีทุนวัฒนธรรมของเรา แต่เราอยากไปใช้ของต่างประเทศ อยากไปใช้เกาหลี ความเป็นญี่ปุ่น อเมริกัน นั่นคือสาเหตุที่สู้ไม่ได้ แต่เรามีแนวทางสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นหนังรัก หนังตลก หนังผี หนังประวัติศาสตร์ รายการทีวี ปกิณกะ เรามีทักษะที่เทียบเท่าต่างชาติ แต่เราจะนำสองอย่างมาผูกกันได้อย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญ
“สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือมาคิดว่าทุนวัฒนธรรมไหนที่น่าสนใจและนำไปสู่ต่างชาติ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าและบริการบางอย่างหรือเปล่า ที่เราจะสามารถผลักดันได้ เช่น นักกอล์ฟไทย เราต้องมีโปรกอล์ฟอยู่ในเนื้อหาหรือเปล่า แพทย์ไทย เมดิคัล ฮับ ต้องทำเรื่องแพทย์หรือเปล่า แต่แนวทางมีอยู่แล้ว เช่น การทำคอนเทนต์ หนัง หรือ ซีรีส์ สารคดี หรืออนิเมชั่น รัก แอคชั่น มีแนวทางทำงานที่ชัดเจน ที่สนุก และเข้าถึงจิตใจของผู้ชมนับสิบล้านทั่วโลก แต่พอเข้าไปแล้ว เราทำให้เกิดทุนวัฒนธรรมต่อเนื่องได้อย่างไร” นี่คือความท้าทาย
ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนคอนเทนต์ไทยให้เติบโตและแข็งแรง คือการวางรากฐานใหม่ สร้างโครงสร้างที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น กฎหมาย มาตรการภาษี มาตรการกระตุ้นผู้ประกอบการให้เกิดการลงทุน ประการต่อมา คือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งผู้ชม ผู้ลงทุน ผู้สร้าง ต้องถูกสร้างไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้ภายในประเทศมีศักยภาพ มีโครงสร้างที่แข็งแรงก่อน ถึงไปต่างประเทศได้
“ศักยภาพในประเทศต้องแข็งแรงก่อน ไม่อย่างนั้น เราจะไม่มีเม็ดเงินหมุนเวียน อย่างมาตรการรัฐจะช่วยเกื้อหนุน เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีให้มีคนมาลงทุนในภาพยนต์มากขึ้น หรือซีรีส์ หรือ แอนิเมชั่น ก็จะช่วยได้ รวมไปถึงการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ส่วนนี้ก็สำคัญ” คุณชายอดัมระบุ
ต่อมาเป็นปัจจัยด้านการตลาด ทำอย่างไรจะสามารถสร้างศิลปินอย่าง ลิซ่า ได้ ลิซ่า เกิดในประเทศไทย ได้รับการฝึกสอนการเต้นเบื้องต้นจากประเทศไทย แต่ต่างชาติมองเห็นศักยภาพลิซ่า นำลิซ่าไปขัดเกลา เพิ่มศักยภาพให้มากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นลิซ่า ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน “เรามีต้นทาง แต่เราทำให้ถึงปลายทางได้หรือไม่ นี่คือการตลาดไปให้ถึงมากน้อยแค่ไหน”
นับหนึ่ง THACCA
สำหรับหนึ่งภารกิจสำคัญ ของคุณชายอดัม ในการเป็นคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ คือการเริ่มต้นจัดตั้งองค์กร THACCA (Thailand Creative Content Agency) หน่วยงานด้านซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง ซึ่งหลายประเทศมีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น KOCCA (Korea Creative Content Agency) ของเกาหลีใต้ หรือ TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) ของไต้หวัน
THACCA เกิดมาเพื่อ ‘ดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ ริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ
“ปัญหากับอุปสรรคมีอยู่แล้ว เพราะเราเริ่มจากศูนย์ เราต้องเริ่มจากการวางสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศก่อน เรามีทุกอย่างทุนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะผลักดันในระยะยาว ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย ที่มีรถ แต่ไม่มีถนน เพราะฉะนั้นต้องให้มีถนน และต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีระบบที่เหนียวแน่น ต้องสร้างใหม่ คนยังไม่เข้าใจ การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ต้องมีแผนงานระยะสั้น กลาง ยาว ต้องบูรณาการความร่วมมือ สร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องใช้เวลา”
แม้จะถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ สำหรับการตั้งองค์กร THACCA แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่าจะขับเคลื่อนได้เร็ว เพราะประเทศไทยมีความพร้อม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อไป คือโลกที่เปลี่ยนเร็ว ทั้งจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์สงคราม และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนในการดึงทรัพยากรของโลกไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ในภาพรวม
“เราเป็นสินค้าอารมณ์ คนเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่เรายังไม่ใช่เบอร์หนึ่ง ทำอย่างไรพยุงอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป ภายใต้สถานการณ์โลกที่ผันผวน เราไม่มีเวลามาเล่นเกม ข้อดีตอนนี้ภาครัฐ มองเห็นว่าเรามีศักยภาพที่เติบโตได้ เราจะต้องทำอย่างไรให้เติบโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำอย่างไรจะร่วมมือกัน ผนึกให้เกิดความแข็งแรงขึ้นมา จะทะลุไปต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น” ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี กล่าวทิ้งท้าย
30 ต.ค. 2565