Last updated: 5 ต.ค. 2567 | 1121 จำนวนผู้เข้าชม |
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ผลักดันการสร้างคอนเทนต์อย่างเท่าเทียม ตอบโจทย์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นองค์กรชั้นนำที่ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลิต พัฒนาเนื้อหาด้วยนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ท่ามกลางความหลากหลายของสื่อที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ถือเป็นความท้าทายขององค์กรในการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย กองบรรณาธิการมีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กับเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมด้านคอนเทนต์นำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีขึ้น
“สื่อที่ดีต้องเปลี่ยนแปลงสังคม ลดความขัดแย้งลง ทำให้คนหันมารักกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น คอนเทนต์ที่ดี ต้องส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ที่รักชีวิต รักตัวเอง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ตอบสนองความเป็นมนุษย์ ที่มีวัฒนธรรม อารยธรรม จริยธรรม ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข และต้องยอมรับความแตกต่าง และสะท้อนความเป็นธรรมในสังคม” “ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้นิยามความหมายของสื่อและคอนเทนต์ที่ดีในมุมมองของกองทุนฯ
“ที่สำคัญ คอนเทนต์ที่ดีในความหมายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต้องเป็นคอนเทนต์ที่ขายได้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าทางวัฒนธรรม และความภูมิใจในความเป็นประเทศ ชาติ และชุมชน”
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีพันธกิจสำคัญอยู่ 2 ด้านด้วยกัน คือ 1. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคมให้เท่าทันสื่อ ท่ามกลางภูมิทัศน์ของสื่อที่มีจำนวนมาก และหลากหลาย รวมไปถึงเฟคนิวส์ การพูดให้ร้าย การบูลลี่ ถ้าคนในสังคมรู้เท่าทันสื่อ เชื่อว่าจะสามารถรับมือกับวิวัฒนาการของสื่อได้ 2. การสนับสนุนให้คนในสังคมสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดี ในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ไม่เฉพาะสื่อหลัก แต่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ได้
“กองทุนฯ จึงมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ และส่งเสริมสร้างสื่อที่ดี ที่ครอบคลุมทั้งสื่อใหม่ และสื่อดั้งเดิม ทั้งคลิปสั้น วิดีโอ บอร์ดเกม งานศิลปะต่าง ๆ ทุกอย่างถือเป็นสื่อหมด ไม่มีการตีกรอบด้วยประเภทของสื่อ หรือแพลตฟอร์ม สิ่งที่ต้องการ คือนำเสนอคอนเทนต์ในเชิงสร้างสรรค์ ปลอดภัย และน่าสนใจ มีความคิดริเริ่ม ผ่านมุมมอง แรงบันดาลใจ และต้องเข้าถึงคนหมู่มากได้ทุกกลุ่ม สร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์ได้”
เร่งส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย
สำหรับภารกิจใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ดร.ธนกร เตรียมแผนดำเนินการทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นมุ่งตอบสนองนโยบายทันที เช่น การจัดสรรทุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ สอดแทรกด้วยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อาทิ อ่าวมาหยา เกาะนางยวน เกาะเต่า ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว การขายคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสถานที่ถ่ายทำ ร้านอาหาร ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ มีแผนจัดงานเอ็กซ์โป เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ผลิตรายการไทยและต่างชาติได้พบกัน โดยรัฐบาลต้องเข้าไปสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตหน้าใหม่ ๆ โดยกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ เตรียมของบประมาณจากภาครัฐ 500 ล้านบาท สนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย ดึงต่างชาติเข้ามาร่วมมือเพื่อพัฒนาคอนเทนต์ออกสู่ตลาดโลก
“รัฐต้องกล้าลงทุนกับคน เหมือนการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ 100 บริษัท ต้องมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จ ดึงต่างชาติเข้ามาทำคอนเทนต์ เราเป็นโค สปอนเซอร์ มีตัวอย่างทำให้หลายประเทศโตจริงๆ ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม บุคลากรมีศักยภาพ ฝึกฝน อบรม และใส่เงินลงทุนจะสามารถเกิดได้แน่นอน”
สำหรับแผนระยะยาว ในการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำเป็นต้องสร้างบุคลากร ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ คนเขียนเรื่อง นักเขียน นวนิยาย การพัฒนาบทละคร ผ่านโครงการบ่มเพาะ อบรมผู้ผลิตทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา และสร้างโอกาสให้เกิดขึ้น
“วงการภาพยนตร์ไทย เรามีบุคลากรอยู่ 20 - 30 คน ซึ่งน้อยมาก ทำอย่างไรจะดึงคนเหล่านั้นมาเพิ่มศักยภาพ มุมมองต่อประเทศ ภาครัฐต้องเข้าไปเชื่อมต่อ สร้างผู้กำกับหน้าใหม่ ให้ไปเติบโตต่างชาติ อย่างการที่รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ ถือเป็นการวางกลยุทธ์ของรัฐบาล และสามารถดึงเม็ดเงินเข้ามาได้อย่างมหาศาล” ดร.ธนกรยกตัวอย่างกรณีคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ใช้พลังของซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลกมาเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับเป้าหมายของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ คือการสร้างความตื่นตัวในวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คนในแวดวง คนเขียนบท นวนิยาย ผู้กำกับ สนับสนุนให้มีงานผลิตมากขึ้น ทั้งภาพยนต์ ละครชุด และแอนิเมชั่น
“คอนเทนต์ของเราขายได้ แม้ยังไม่มีการทำงานที่ชัดเจน แต่ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ ทำให้ต้นทุนสังคมที่แข็งแรงของไทย ไปอยู่ในเนื้อหาของสื่อรูปแบบต่าง ๆ วันหนึ่งเกิดการสร้างสรรค์ เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ เป็นการรุกด้านวัฒนธรรมไป เหมือนหมาล่าของจีน ที่สามารถรุกคืบทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ ดังนั้นต้องรุกและรับให้เร็ว แรง จะสามารถผลกระทบกว้างขวางมากขึ้นหลายเท่า เชื่อว่าสุดทายจะมีรายได้ทางสินค้าวัฒน ท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มคุณภาพ รายได้ที่มากขึ้น ไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ต้องสร้างรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าและบริการเชิงคุณภาพมากขึ้น เวลากินอาหาร 1 จาน ไม่ใช่แค่ขายวัตถุดิบราคา 200 บาท แต่สามารถสร้างตำนาน ขายสตอรี่ เรื่องราว ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณค่าได้ในระยะยาว”
ในฐานะที่กองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนการสร้างคอนเทนต์ในประเทศไทย สิ่งที่ ดร.ธนกร อยากจะฝากไว้เป็นข้อเสนอแนะ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่การจับผิด การสร้างความสำเร็จของแต่ละหน่วยงาน คืออะไร ถนัดแบบไหนทำไป
“ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ผมเชื่อว่า ถ้าเราร่วมใจกัน ทั้งกึ่งรัฐ กึ่งราชการ วันหนึ่งต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่วันนี้ เราต้องเดินหน้าอย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนคอนเทนต์ไทยสร้างเป็นกระแสซอฟต์พาวเวอร์ให้ขยายไปทั่วโลก” ดร.ธนกรกล่าวทิ้งท้าย