70 ปีทีวีไทย สู่ทีวีดิจิทัล และอนาคต

Last updated: 29 ก.ย. 2567  |  1957 จำนวนผู้เข้าชม  | 

70 ปีทีวีไทย สู่ทีวีดิจิทัล และอนาคต

70 ปีทีวีไทย สู่ทีวีดิจิทัล และอนาคต
ของคอนเทนต์ที่ไม่มีวันตาย

 

ย้อนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของวงการโทรทัศน์ไทย ตั้งแต่ยุคจอมพลป. พิบูลสงคราม สู่ยุคทีวีดิจิทัล และมัลติแพลตฟอร์ม อดีต ปัจจุบัน มาจนถึงอนาคตของคอนเทนต์ไทย ผ่านมุมมอง “เขมทัตต์ พลเดช”

นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (RTBPF )ถึงเวลาที่ต้อง “Think Global, Do Local & Regional เพื่อคว้าโอกาสระดับโลก และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอวดสู่สายตาชาวโลก

“จุดเริ่มต้นของวงการโทรทัศน์ไทย ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ได้ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ หรือรายการซึ่งมีแนวทางการพัฒนาที่ได้รับโนว์ฮาวจากสถานีโทรทัศน์ NHK ประเทศญี่ปุ่น ทั้งรายการ สารคดี และข่าว โดยมีการส่งคนไปฝึกอบรมแนวทางการทำรายการประเภทต่าง ๆ พอยุค 20 ปีให้หลัง สถานีโทรทัศน์เริ่มเติบโตขึ้น มีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้นทั้งช่อง 3 5 7 และช่อง 9 อสมท ในช่วงนััน ผู้ผลิตไทย ยังมีการผลิตรายการน้อย จึงเริ่มมีการซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศเข้ามาออกอากาศให้คนไทยได้รับชมรายการดัง ๆเช่น วันเดอร์วูแมน ซิตี้มิลเลี่ยนแมน ทอมโจนส์โชว์” และซีรีส์จากฮ่องกง

 นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ RTBPF เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของวงการโทรทัศน์ไทยเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมาว่า ผ่านไป 40 กว่าปี ธุรกิจโทรทัศน์เติบโตขึ้นตามลำดับ โดยมีสถานีโทรทัศน์หลัก 4 ช่อง คือ 3 5 7 และช่อง 9 อสมท และมีการขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของไทย ที่มีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี การพัฒนาคอนเทนต์ ของไทย มีทั้งการตั้งโรงเรียนการแสดง การแสวงหานักแสดง การแข่งขันกันเพื่อผลิตรายการที่ดี มีคุณภาพ รวมถึงการผลิตละครออกสู่สายตาผู้ชมจำนวนมาก รวมถึงการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการข่าวโทรทัศน์ด้วยรายการประเภทเล่าข่าว อย่างเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นต้น ทำให้โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักของคนไทยตลอดหลายทศวรรษ แต่เมื่อมีการประมูลสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ผ่านระบบ UHF ที่ชื่อว่า “ไอทีวี ทีวีเสรี” ก็ยิ่งทำให้เกิดผู้ผลิตรายการอิสระจำนวนมาก เข้ามาแข่งขันกันผลิตรายการคุณภาพออกสู่ตลาด ทั้งรายการข่าว บันเทิง สารคดี แต่ไอทีวีต้องมาสะดุดจากปัญหาทางการเมือง และสัญญาการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน มีการถูกยกเลิกสัญญา และนำไปสู่การยึดคืนคลื่นความถี่ในที่สุด และเกิดใหม่อีกครั้งในนามของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันถัดมาไม่กี่ปี  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงดำเนินการจัดประมูลทีวีดิจิทัลเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

“10 ปี ทีวีดิจิทัล คอนเทนต์สะดุดการเปลี่ยนผ่าน“

“เมื่อมีการประมูลทีวีดิจิทัล สิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าจะเกิดการพัฒนาวงการโทรทัศน์ และคอนเทนต์ไทยให้แข็งแรง โดยนำรายได้จากการประมูล มาส่งเสริมการผลิตรายการโทรทัศน์ แต่ช่วงที่ผ่านมาจนถึง10 ปี กลับไม่มีการส่งเสริมการผลิตรายการเท่าที่ควร ทำให้คอนเทนต์ในช่วงเปลี่ยนผ่านไม่แข็งแรง ยิ่งไปกว่านั้น สื่อโทรทัศน์ยังถูกดิสรัปด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมการรับชมรายการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการกำกับดูแลด้วยความไม่เข้าใจ และกฎหมายที่ปิดล้อมตัวเอง ทำให้ทีวีไทยอ่อนแอลง” เขมทัตต์ฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2556

การประมูลทีวีดิจิทัล ที่ถูกคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงการโทรทัศน์ไทย จากการมีทางเลือกในการรับชมรายการโทรทัศน์ที่มากถึง 24 ช่องในช่วงแรก แต่ด้วยความที่เอกชนต้องลงทุนจำนวนมาก ทั้งขยายโครงข่าย และผลิตรายการขึ้นมาแข่งขันกัน ทำให้ทีวีดิจิทัลประสบปัญหาขาดทุนมหาศาล โดยเฉพาะช่องทีวีสำหรับเด็ก ที่หวังว่าจะเป็นทางเลือกใหม่กลับ “ตายก่อน” ทำให้ทุกช่องต้องดิ้นรนเอาตัวรอด มีการขายหุ้น เปลี่ยนมือ และเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่มีการสนับสนุนทั้งการขยายโครงข่ายและการพัฒนารายการเท่าที่ควร ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เกิดการพัฒนาในวงการโทรทัศน์ไทย อุตสาหกรรมไม่เติบโต ขณะที่ผู้ประกอบการอ่อนแอลง

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ จำนวนมาก กลายเป็นช่องทางใหม่สำหรับคอนเทนต์ที่ขยายตัวขึ้นตามลำดับ

ในมุมมองของ เขมทัตต์ “คอนเทนต์จึงไม่ตาย” แต่เป็นการเปลี่ยนตลาดใหม่ และค่อย ๆ เติบโตขึ้น ในอนาคตโปรดักชั่นเฮ้าส์ หรือผู้ผลิตรายการ หรือคอนเทนต์จะเป็นผู้คุมเกม สามารถเจรจาได้กับทุกช่อง ศิลปิน ดารา เริ่มไม่ต่อสัญญา รับงานอิสระ หากภาครัฐมีการสนับสนุนอย่างถูกต้อง จะเป็นจุดเริ่มต้นการเติบโตอีกครั้งของคอนเทนต์ไทย และเป็นพลังในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศต่อไป

 

”เปลี่ยนวิธีคิด “Think Global, Do Local & Global”

   ข้อดีอย่างหนึ่งของการมีทีวีดิจิทัล และแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทผู้ผลิตรายการ หรือโปรดักชั่นเฮ้าส์เกิดขึ้นจำนวนมาก เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ดิจิทัลคอนเทนต์ ดิจิทัลเอเจนซี่ ที่ทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ ๆ ผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น มีการแจ้งเกิดของผู้มีอิทธิพลทางสื่อใหม่ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ รวมไปถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL) และ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค (KOC) ที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมโทรทัศน์กระจายไปยังสื่อต่าง ๆ สื่อโทรทัศน์จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาคอนเทนต์ที่จะเข้าถึงผู้ชมที่กระจัดกระจายมากขึ้นในปัจจุบัน

“อุตสาหกรรมคอนเทนต์ในตลาดโลก มุ่งไปที่การพัฒนารายการ ซอฟต์แวร์ โปรแกรมต่าง ๆ ไม่ได้พูดถึงสถานี หรือแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแค่หนึ่งแชนแนล ผู้ผลิตรายการในประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และต้องคิดให้มากกว่านี้ หากต้องการให้คอนเทนต์เป็นพลังในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย” เขมทัตต์กล่าว

ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งเช่นเดียวกับไทย การพัฒนาคอนเทนต์ของประเทศเหล่านั้นได้ใส่ทุนทางวัฒนธรรมลงไป ไม่ว่าจะเป็นส่าหรี เพลง และการเต้นรำแบบอินเดีย ที่จะต้องมีในภาพยนตร์ หรือการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่น ได้สอดแทรกวิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้าไป สถานีโทรทัศน์ไทยในปัจจุบันจึงต้องมองถึงการสร้างแบรนด์คอนเทนต์ของแต่ละช่อง ที่จะต่อยอดสร้างรายได้ที่มากกว่า ด้วยการลงทุนวิจัย เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ โดยไม่ใช่การยึดถือตัวเลขเรตติ้งแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้

เขมทัตต์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งไม่ต่างจากประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ ที่สามารถนำมาสร้างเป็นคอนเทนต์ เพื่อสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ได้ โดยสิ่งที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของผู้ผลิตรายการในปัจจุบัน หนึ่ง ต้อง “Think Global, Do Local & Global” ไปพร้อม ๆ กัน สอง ต้องมีการบ่มเพาะตั้งแต่ระดับฐานราก เช่น การวิจัย การเขียนบท สาม ต้องมีสิทธิพิเศษสนับสนุนจากภาครัฐ และ สี่ ต้องมีทีมกลยุทธ์ที่จะพัฒนาคอนเทนต์ในหลากหลายภาษา เพื่อรองรับการขยายสู่ตลาดโลก

ภาครัฐต้องเริ่มสนับสนุนผู้ผลิตรายการตั้งแต่วันนี้ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์อย่างยั่งยืน ด้วยการตั้งกองทุนฯ เหมือนในประเทศเกาหลีใต้ พัฒนาองค์ความรู้ตั้งแต่ระดับมัธยม มหาวิทยาลัย รวมถึงการเรียนเฉพาะทาง สร้างหลักสูตรที่จะพัฒนาผู้ประกอบการในหลากหลายสาขาวิชาชีพ รวมไปถึงการอัพสกิล รีสกิล การหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการลงทุนผลิตคอนเทนต์ การลดหย่อนภาษีในการซื้ออุปกรณ์ รวมทั้งลดหย่อนภาษีนักแสดงซึ่งปัจจุบันคิดในอัตราที่สูง รวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ สถานที่ถ่ายทำ การสนับสนุนด้านการตลาด การไปต่างประเทศ

“หากจะใช้คอนเทนต์เป็นพลังในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย ต้องเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรียนรู้การบริหารจัดการคอนเทนต์ การวิเคราะห์ข้อมูล การทำ Content Lab ต้องขยายภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนการสร้างและพัฒนาคอนเทนต์ มีการตั้งกองทุนฯ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่มี Korea Creative Content Agency หรือ KOCCAเพื่อให้ความสำคัญกับการลงทุนกับคอนเทนต์ จึงจะสามารถดึงเม็ดเงินกลับมาและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ในประเทศไทยก้าวหน้าและเติบโตในตลาดโลกได้ในอนาคต” เขมทัตต์กล่าวทิ้งท้าย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้