Last updated: 29 ก.ย. 2567 | 826 จำนวนผู้เข้าชม |
CEA วางยุทธศาสตร์คอนเทนต์สร้างสรรค์ พร้อมเกื้อหนุนเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยต่อยอดให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วโลก มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 7.4% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท กองบรรณาธิการมีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ถึงยุทธศาสตร์การนำคอนเทนต์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย
“คำจำกัดความของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในไทยเรามี 15 สาขา แต่สิ่งที่น่าสนใจ ทำไมทั่วโลกถึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ นอกจากในมุมมองของการสร้างรายได้ให้ประเทศแล้ว คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ มีค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ถึง 150% ดังนั้น ถ้าผลักดันอุตสาหกรมนี้ได้ จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนในประเทศนั้นๆ” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการนำองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เช่น ผ้าไทย อาหารไทย หรืออย่างเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น เศรษฐกิจสร้างสรรค์เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย เป็นการทำงานร่วมกับคนในชุมชน คนพื้นถิ่น สามารถกระจายรายได้ให้คนอย่างทั่วถึง คนในประเทศสามารถมีส่วนร่วมได้มาก นำไปสู่องค์ประกอบในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พื้นฐานซอฟต์พาวเวอร์
ดร.ชาคริต กล่าวว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทยกำหนดไว้ 11 สาขา ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยออกสู่ตลาดสากล ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การออกแบบ ศิลปะ ภาพยนตร์ รวมไปถึงคอนเทนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยนำเสนอเรื่องราว สร้างความชื่นชอบให้กับผุ้ที่สนใจด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย ด้วยการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการที่ใช้ฐานรากของความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบส่งออกไปในระดับสากล
“คอนเทนต์ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CEA ซึ่งประกอบด้วย ภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชันและดนตรี ซึ่งเรามองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเหมือนยานพาหนะที่จะนำอุตสาหกรรมอื่นไปได้ด้วย คือช่วยส่งเนื้อหาออกไปสู่สายตาชาวโลก โดยจากการศึกษาพบว่า การลงทุนในคอนเทนต์จะส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการที่เราให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ไทยและถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ CEA ในการตั้งเป้าอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ให้เป็น ทรัพยากรสำคัญสนับสนุน Soft Power ของประเทศ”
การสร้างคอนเทนต์ หรือ การเล่าเรื่องราว (Storytelling) ถือเป็นกระบวนการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ การทำสินค้าบวกกับ Storytelling จะเป็นการสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ และพัฒนาพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย นอกจากจะทำให้ประเทศมีรายได้จากการจ้างงาน สิ่งที่ตามมาหลังจากคอนเทนต์ออกฉาย ก็คือทั่วโลกจะได้เห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนและการท่องเที่ยวไทย ต่อยอดไปสู่การซื้อสินค้าและบริการที่ตามมาอีกมากมาย
ผู้อำนวยการ CEA กล่าวด้วยว่า “คอนเทนต์สร้างโดมิโน เอฟเฟ็กต์ ให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้อย่างมากมาย” สำหรับคนในอุตสาหกรรมคอนเทนต์เอง หากมีรายได้มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ การออกแบบ เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องรอบตัว นอกจากนี้ยังช่วยทำงานในระดับพัฒนาคน ทำให้มีสายอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งผู้กำกับ นักเขียนบท โปรดิวเซอร์ ซึ่งในมุมมองของ CEA การยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในแง่สาขาอาชีพต่าง ๆ ขณะนี้ต้องการการ Upskill และ Reskill ซึ่งเป็นส่วนงานที่หน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปสนับสนุนเพื่อเร่งสร้างแรงงานที่มีทักษะทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่แนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย เราจะเริ่มเห็นโอกาสในแพลตฟอร์ม OTT มากขึ้นที่สามารถพาเราเข้าไปสู่ตลาดโลกได้ และเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนทำคอนเทนต์ที่จะสอดแทรกเนื้อหาเชิญชวนให้คนภายนอกเกิดความนิยมชมชอบและเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย
ยกระดับคนทำคอนเทนต์สู่ตลาดโลก
ที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นฮับที่มีชื่อเสียงด้านการทำโพสต์โปรดักชันมาก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ส่วนต้นน้ำ เช่น การเขียนและพัฒนาบท ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ที่ยังต้องการการ Upskill และ Reskill เพื่อเปิดรับโอกาสจากต่างประเทศที่จะเข้ามาจ้างงาน จากการขยายตัวของแพลตฟอร์มสตรีมมิงจากต่างประเทศ อย่างเช่น Netflix, Prime Video หรือ VIU เป็นต้น
ดร.ชาคริต กล่าวว่า CEA มีโครงการ “Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ได้ได้พัฒนาทักษะ Upskiil และ Reskill และส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์ในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ (Film & Series) และ ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ของไทย ให้มีศักยภาพในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมายในระดับสากล โดย CEA ตั้งเป้ายกระดับทักษะและความเชี่ยวชาญของทีมผู้เข้าร่วมโครงการ ผ่านการอบรมเชิงลึก การบรรยาย และการปฏิบัติจริง รวมถึงมอบโอกาสให้ทีมผู้เข้าร่วมได้นำเสนอโครงการของตนเองกับนักลงทุน เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้ แนวโน้มการถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์ในอนาคต ยังต้องมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตและโปรดักชันส์ การนำเทคนิคการถ่ายทำภาพเสมือนจริง (Virtual Production) ในเศรษฐกิจโลกเสมือน (Virtual Economy) ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการสร้างสตูดิโอถ่ายทำที่ทันสมัยและมีคุณภาพระดับสากล อย่างโครงการ “Virtual Media Lab ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน” โดย CEA จึงจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะฝึกฝน อบรมเหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ให้ได้ต่อยอดและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ (Creative Content) ไม่ว่าจะเป็นสาขาภาพยนตร์ โฆษณา เกม แอนิเมชัน และอีเวนต์ “ในช่วงที่ผ่านมา คอนเทนต์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศมากขึ้น อย่างงาน Hong Kong International Film & TV Market (FILMART) ครั้งล่าสุด เราจะเห็นว่า ภาพยนตร์ไทย ซีรีส์ไทย กลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่ง CEA ก็ได้พยายามผลักดันโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ทั้งการจำหน่ายคอนเทนต์ และการแสวงหานักลงทุนที่สนใจเข้ามา โดยที่ผ่านมา ไทยเรามีชื่อเสียงในการผลิตภาพยนตร์ทั้งแนวต่อสู้ สยองขวัญ รวมถึงอุตสาหกรรมซีรีส์วายที่มีศักยภาพสูง นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการผลิตคอนเทนต์ที่เรามีความถนัดและกำลังได้รับความนิยมให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศและแพลตฟอร์มระดับโลก ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายใหม่ของไทยที่จะใช้เป็นแรงดึงดูดสำคัญให้ต่างชาติเกิดการยอมรับ เช่น การมีศิลปิน ดารา นักแสดง ไปทำหน้าที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์ระดับโลก เพื่อขยายความนิยมจากการมีฐานแฟนคลับที่แข็งแกร่งไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ของเรา และสามารถต่อยอดไปได้อีกมากมาย”
“จากมุมมองภาครัฐ ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย อยากเห็นเนื้อหาที่มีการพัฒนาจากวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น ความเชื่อ ซึ่งมีหลายมิติ เนื้อหา สตอรี่ที่สามารถพัฒนาจากใช้ทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดเป็นคอนเทนต์ให้น่าสนุก น่าสนใจ เวลาทำสิ่งที่มาจากรากเหง้าของเราเอง จะเลียนแบบไม่ได้ อย่างคอนเทนต์วาย ก็มาจากความเชื่อที่เปิดกว้างของคนไทย รวมไปถึงมรดกภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งมีความเซ็กซี่ในสายตาชาวต่างชาติ เป็นตัวตนของเรา” ชาคริตกล่าว
เร่งสร้างระบบนิเวศ แก้ปัญหาอุปสรรค
ในด้านการพัฒนาคอนเทนต์ของไทยในปัจจุบันยังมีอีกหลายปัจจัยที่ท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนสนับสนุน ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีตรงนี้น้อยมาก และค่อนข้างกระจัดกระจายไปหลายหน่วยงาน สิ่งที่ต้องผลักดันคือการตั้งกองทุนสนับสนุนที่ชัดเจน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยสู่สากล รวมไปถึงการส่งเสริมนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์งานที่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นระบบ
นอกเหนือจากการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลากหลายสาขาแล้ว CEA ยังมีอีกภารกิจที่สำคัญ คือการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเมืองสร้างสรรค์ (Creative District / Creative City) ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ถือเป็นการพัฒนาให้เมืองทั้งเชิงกายภาพและการจัดเทศกาลสร้างสรรค์ พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เราจะสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของบรรดานักสร้างสรรค์ในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกิดวงจรธุรกิจและการซื้อขายกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ถูกพัมนาไปพร้อมกัน คือ นักสร้างสรรค์ พื้นที่สร้างสรรค์ และธุรกิจสร้างสรรค์
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลจากการที่ UNESCO ประกาศให้ 7 จังหวัดในประเทศไทยเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ในสาขาต่าง ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย และสุพรรณบุรี โดย “ภูเก็ต” เป็นเมืองที่ได้รับสถานะเมืองสร้างสรรค์แห่งการทำอาหารจาก UNESCO “เชียงใหม่” และ “สุโขทัย” เป็นเมืองด้านหัตถศิลป์และศิลปะพื้นบ้านที่โดดเด่น ขณะที่ “กรุงเทพมหานคร” ได้รับสถานะเป็นเมืองแห่งการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างความเก่าแก่และสมัยใหม่ สะท้อนถึงความหลากหลายของผู้คนและวิวัฒนาการของเมือง เช่นเดียวกับ “เชียงราย” เมืองแห่งการออกแบบที่มีศิลปินล้านนาหลากหลายแขนง สะท้อนถึงอัตลักษณ์ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างโดดเด่น ส่วน “เพชรบุรี” เป็นเมืองสร้างสรรค์แห่งการทำอาหารจก UNESCO การยอมรับนี้เน้นย้ำถึงประเพณีการทำอาหารที่หลากหลายของภูมิภาคนี้ และความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติผ่านสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชน และ “สุพรรณบุรี” ได้รับสถานะเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านคนตรี ที่มีรากฐานวัฒนธรรมด้านดนตรีที่เข้มแข็งและกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นมายาวนาน
โดย CEA ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างให้เป็นเครือข่าย “เมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก” พร้อมเป็นผู้สนับสนุนคงสถานะของจังหวัดที่ได้รับการรับคัดเลือกทั้ง 7 จังหวัด เพราะเราเชื่อว่าแต่ละจังหวัดนั้นย่อมมี “อัตลักษณ์และเรื่องราวของตนเอง” โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ต้นทุนวัฒนธรรม ใช้อัตลักษณ์ของตนเองดึงดูดทั่วโลกให้เข้ามาเที่ยวและลงทุนได้มหาศาล เพื่อสร้างทั้ง “คุณค่า และ “มูลค่า” ไปพร้อมกัน ปัจจุบันเราทำงานเป็น 2 ระดับ โดย “ระดับย่าน” ที่เป็นเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network หรือ TCDN) เราทำงานได้ครบ 33 พื้นที่ ใน 33 จังหวัด และ “ระดับเมือง” คือ ผลักดันจังหวัดให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ที่กำลังจะมี 4 จังหวัด อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้ารับสมัคร ได้แก่น่าน ด้านหัตถกรรม (crafts & folk art), นครปฐม ด้านดนตรี (music), แพร่และพัทยา ด้านฟิล์ม (film) ยกตัวอย่างเช่นเมืองพัทยา ที่กำลังอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในด้านภาพยนตร์ จะไม่ได้มีแค่การจัดเทศกาลฉายหนัง แต่ต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ มาประกอบด้วย ยกตัวอย่าง เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ มีการจับคู่ธุรกิจ มีการจัดฟอรัมเพื่อดึงดูดคนจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกเข้ามา ซึ่งเราต้องหาจุดขายที่แข็งแรงและแตกต่าง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการถ่ายทำภาพยนตร์จากทั่วโลก เป็นการประชาสัมพันธ์เมืองเพื่อประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว ในระดับสากล
“หลังจากนี้ เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมคอนเทนต์มากขึ้น โดยเฉพาะหลังการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่มีการทำงานเข้มข้นมากขึ้น เชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น CEA ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาคน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ก็ได้เร่งสนับสนุนให้เกิดผลงานของคนไทยให้ไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกแล้ว จากนี้ เราอยากเห็นงานคอนเทนต์คุณภาพของไทยมากขึ้นในสายตาชาวโลก ซึ่งก็ต้องอาศัยการขับเคลื่อนของภาคเอกชนเป็นหลัก และรัฐมีหน้าที่เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนเป้าหมาย เพื่อทำให้คอนเทนต์ไทยได้ไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีโลกอย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการ CEA กล่าวทิ้งท้าย
#หนังสือคอนเทนต์ทีวีไทยขุมพลังสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์