การส่งออกคอนเทนต์สู่ตลาดโลก ผ่านมุมมอง สมรักษ์ ณรงค์วิชัย

Last updated: 18 ก.ย. 2567  |  239 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การส่งออกคอนเทนต์สู่ตลาดโลก ผ่านมุมมอง สมรักษ์ ณรงค์วิชัย

การส่งออกคอนเทนต์สู่ตลาดโลก ผ่านมุมมอง “สมรักษ์ ณรงค์วิชัย”

 

สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ปัจจุบันเรียกช่อง 3 เอชดี หรือช่อง 33 ถือเป็นผู้นำในธุรกิจโทรทัศน์เมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเจาะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ คนเมือง ผ่านการนำเสนอเนื้อหารายการ ละคร และรายข่าวที่เข้าถึงรสนิยมของคนไทย โดยมี “สมรักษ์ ณรงค์วิชัย” รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักผลิตรายการ บริษัท บีอีซี - มัลติมีเดีย จำกัด เป็นกำลังหลักในการคิดสร้างสรรค์รายการ และละครของช่อง 3 ให้ถูกใจผู้ชมในประเทศ และยังส่งออกคอนเทนต์ไปทั่วโลก

“การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกับวงการโทรทัศน์ไทย ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดทีวีดิจิทัล ปัจจุบันแค่มีช่องเยอะขึ้น แต่รูปแบบรายการ เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนมากนัก สิ่งที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี ที่สร้างช่องทางในการรับชมที่มากขึ้น ผู้ชมเริ่มแยกเป็นกลุ่มย่อย สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือทำอย่างไรที่จะลงไปทุกแพลตฟอร์ม ถือเป็นความท้าทายผู้ผลิตรายการ เพราะหาเงินยากขึ้น ผู้ผลิตรายการต้องหาทางมากกว่าเดิม เป็นความท้าทายของคนในวงการ ที่ต้องเอาตัวรอดมากขึ้น” สมรักษ์ฉายภาพการเปลี่ยนผ่านของวงการโทรทัศน์ไทย จากทีวีดิจิทัลสู่แพลตฟอร์มในการรับชมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเทคโนโลยี

ขณะที่ทิศทางคอนเทนต์ในตลาดโลก ที่ดูเหมือนจะมีโอกาสมากขึ้น จากการเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ ๆ แต่ในมุมมองของผู้บริหารช่อง 3 เห็นว่า ความต้องการคอนเทนต์ในตลาดโลกมีอยู่ตลอดเวลา จากการที่ผู้บริโภคในแต่ละประเทศต้องการเสพวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ซึ่งช่อง 3 ได้นำเข้าคอนเทนต์เหล่านั้นมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นหนังจีน เกาหลี อินเดีย เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมในแต่ละช่วงเวลา แต่วันนี้เมื่อมีช่องทางมากขึ้น มีการแข่งขัน ผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศก็ต้องพัฒนาคุณภาพมากขึ้น การเขียนบท เนื้อเรื่องใหม่ ๆ ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดโลก

“ความบันเทิง ตั้งแต่สมัยไหน ที่เราซื้อมา ทั้งหนังจีน เกาหลี อินเดีย เราซื้อมาอยู่แล้ว เพราะต้องเสพวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ต่างประเทศ ก็ซื้อเพราะต้องการเสพวัฒนธรรมของเรา ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองเพื่อไปหาเขา แต่ทำคุณภาพมากขึ้น การถ่ายทำ การใช้อุปกรณ์ ตัดต่อ เขียนบท มาตรฐานการแสดง ส่วนคอนเทนต์ เป็นคอนเทนต์ที่บ้านเราเสพ การเขียนบท เริ่มมีเหตุผล ที่มา ที่ไปที่เป็นสากลมากขึ้น ทำอย่างไรให้เขาชอบ เป็นเอกลักษณ์ของเรา อย่างบุพเพสันนิวาส เมื่อดังในบ้านเรา เขาก็มาซื้อ ดังนั้นต้องทำตัวเองให้ดีก่อน เขาถึงจะมาซื้อเรา”

 

ส่งออกคอนเทนต์ไปทั่วโลก

สำหรับช่อง 3 ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งออกคอนเทนต์ไทยไปเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้น ปัจจุบันมีการส่งออกไปหลาย ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา แอฟริกา รวมถึงเอเชียใต้ ได้แก่ประเทศอินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, มัลดีฟส์, ภูฏาน และ อัฟกานิสถาน รวมมากกว่า 2,300 ชั่วโมง ผ่านการจับมือกับพันธมิตร ซึ่งเป็นบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ในแต่ละภูมิภาคเพื่อนำคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดโลก เช่น กลุ่มมีเดีย คอร์ป ของสิงคโปร์ I.E. Entertainment Pte. Ltd ผู้ส่งออกคอนเทนต์รายใหญ่

นอกจากนี้ ยังจับมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก ทั้ง Netflix WeTV Prime Video VIU Netopia ในเกาหลี และ MX Player แพลตฟอร์ม OTT อันดับ 1 ของอินเดีย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มฐานผู้ชมและเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครไปออกอากาศยังต่างประเทศ เรียกว่าเป็น Soft Power ที่ทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักละครไทยมากขึ้น

ในฐานะที่ “สมรักษ์” ผู้รับผิดชอบด้านการสร้างคอนเทนต์ จึงมองเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตรายการต้องปรับตัว และเรียนรู้ ตามเทรนด์การเล่าเรื่องในโลก รวมถึงแต่ละประเทศมีทิศทางอย่างไร อย่างซีรีส์เกาหลีตอนนี้มีพัฒนาการเร็ว และมีความโดดเด่น สิ่งสำคัญผู้ผลิตรายการต้องหันกลับมามองตัวเอง ตั้งแต่การเขียนบท พัฒนาคาแรกเตอร์ การสร้างแรงบันดาลใจในการผลิตคอนเทนต์ “ต้องปรับตัวเองตลอดเวลา เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ทิศทางจากของเขา มาพัฒนางานของเรา”

 

ขั้นตอนการสร้างคอนเทนต์บุกตลาดโลก

สมรักษ์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกคอนเทนต์สู่ตลาดโลก สิ่งที่เรามอง คือความเป็นสากล อย่างหนังฮอลลีวู้ด หนังจีน พูดเรื่องมนุษย์ รัก โลภ โกรธ หลง แต่มีประเพณี ความเชื่อที่ต่างกัน การเลือกเรื่อง ต้องมองว่ามีความเป็นสากล เลือกเรื่องราวของมนุษย์ขึ้นมาก่อน มองหาสังคม สิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันที่จะทำให้เขาเข้าใจ พยายามพูดถึงปัญหา ทางออก วิธีแก้ปัญหา เวลาดู จะได้มีทางออก บั้นปลายของการเล่าเรื่อง ต้องมีโซลูชั่นความสุข

ขณะที่วิธีการเขียน อย่างซีรีส์ต่างประเทศ กลายเป็นบทภาพยนต์มากขึ้น พวกละคร บทสั้นลง เน้นเล่าเรื่องด้วยภาพ บทพูดน้อยลง แต่ต้องไม่ลืมเอกลักษณ์ของละครไทย เพื่อให้นักแสดงได้แสดงความสามารถ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบทต้องมีช่องว่างให้นักแสดงแสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่

ส่วนการปั้นนักแสดง ช่อง 3 ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก ๆ ที่มีโรงเรียนการแสดง มีนักเรียนการแสดง มีการพัฒนาการแสดง เพื่อก้าวสู่ระดับโลก ซึ่งในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญ ความเป็นมืออาชีพ แสดงบทบาท วันอ่านบท วันแคสติ้ง เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้ากอง เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทุกอย่างให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน

“พวกที่เรียนการแสดง ทุกครั้งที่จะเริ่มทำละคร ต้องนับหนึ่งใหม่ แคสติ้ง ไทรเอาท์ ออดิท สิ่งที่ค้นพบในการทำเวิร์คช้อป จะเจอโจทย์ต่าง ๆ นอกจากพื้นฐาน ทุกครั้งทำงานใหม่ ต้องทำความเข้าใจบทใหม่ทุกครั้ง” สมรักษ์เล่าถึงกระบวนการผลิตละครแต่ละเรื่อง ที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้ได้งานคุณภาพมากที่สุด

ส่วนทิศทางการพัฒนาคอนเทนต์ของช่อง 3 สมรักษ์ กล่าวว่า ไม่เคยเปรียบเทียบกับใคร แต่ให้ความสำคัญไปที่เป้าหมายมากกว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เรารู้อยู่แล้วว่าการผลิตละคร ปีละ 20 เรื่อง อาจจะมีแค่ 10 เรื่อง น่าจะขายได้ เราไม่ได้คิดว่าจะขายได้ทุกเรื่อง เราดูจากพล็อตเรื่องว่าใช่หรือไม่ เหมาะกับแพลตฟอร์ม หรือรสนิยมของคนในแต่ประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป

 

สิ่งสำคัญ คือต้องรู้จักตัวเอง

ในฐานะผู้นำในการผลิตละครไทย สมรักษ์ กล่าวว่า คนที่เข้าใจ จะรู้ว่าวงการต้องการอะไร สิ่งสำคัญที่สุด จุดแรกต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน การขอความช่วยเหลือ หรือความสนับสนุนจากภาครัฐ ก็แล้วแต่โอกาส ทุกวันนี้ที่ไปขายในตลาดต่างประเทศ ผู้ผลิตต้องดิ้นรนไปเองทั้งนั้น จนตลาดรู้จัก และมีลูกค้าประจำแวะเวียนมาคุย มาติดต่อซื้อขายกัน

“เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่าผู้ชมคือใคร หาคนดูให้เจอก่อน แข่งกับตัวเอง หาเป้าหมายให้เจอก่อน ถ้ารู้ชัดเจน แน่นอน อย่างกลุ่มไทบ้าน ทำเฉพาะกลุ่ม และกลายเป็นแมสขึ้นมา อยู่ที่ว่าจะพัฒนาต่ออย่างไร คนเราพอสำเร็จ โจทย์ต่อไปยากมาก มีเสมอตัว อย่างช่อง 3 ทำภาพยนตร์เรื่อง ธี่หยด ก็ประสบความสำเร็จ ก็มีภาค 2 เพราะดูแล้วสนุก และเห็นเทรนด์ที่จะไปต่อได้ ละครหลายเรื่องไปได้หมด ทั้งเกมรักทรยศ มาตาลดา หมอหลวง ได้คำชมเชย และขายได้หลายประเทศ” สมรักษ์กล่าว

“โอกาสของธุรกิจคอนเทนต์ขยายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่อาจจะช้า เพราะผู้ซื้อมีจำกัด ขณะที่กฎหมายของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน มีโควต้า จำกัดการซื้อ คนที่ซื้อมีจำนวนจำกัด ไม่กว้างขวาง อย่างอเมริกาใต้ ซื้อคอนเทนต์เก่าเราไป จากประสบการณ์ที่เราทำ สิ่งที่เราได้ทดลองหลากหลายรูปแบบ ประสบความสำเร็จมาก คือละครชุด ที่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก และสามารถปั้นศิลปิน ดาราได้จำนวนมาก”

นี่คือคัมภีร์ความสำเร็จของช่อง 3 ผ่านมุมมองของ “สมรักษ์ ณรงค์วิชัย” รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักผลิตรายการ บริษัท บีอีซี - มัลติมีเดีย จำกัด ที่ได้แชร์ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ละครไทยที่ไม่ได้ปังแค่ในประเทศ แต่ยังไปไกลถึงต่างประเทศด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้