“ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ก้าวย่างแห่งอนาคตคอนเทนต์ไทย”
รัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้พรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับ Soft Power มาโดยตลอด ด้วยการวางโครงสร้าง Ecosystem ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และการกลับมาครั้งนี้ ได้“คิดใหญ่และทำใหญ่กว่าที่เคยทำอดีต” โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ กับการวางแผนอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
กองบรรณาธิการ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถึงโจทย์ใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิมในการสร้าง Ecosystem ให้กับอุตสาหกรรม Soft Power ของไทย เพื่อยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชนไทย
“มันเริ่มจากการตั้งโจทย์ใหญ่ว่า ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูง เพราะประเทศเราติดกับตรงนี้มาหลายสิบปีแล้วค่ะ พรรคเพื่อไทยในนามรัฐบาล เราจะใช้โอกาสนี้ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่และจะยกระดับรายได้ของพี่น้องประชาชนไทยให้ได้
หนึ่งในสิ่งที่เรามองเห็นคือศักยภาพในต้นทุนทางวัฒนธรรมไทย เรามีอาหารที่ดี มีรสชาติที่หลากหลายถูกใจหลายคน มีมวยไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก มีดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ มีศักยภาพในการถ่ายทำภาพยนตร์ และอีกหลายอย่างที่เป็นจุดแข็ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย นั่นจึงทำให้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาล
ภาพใหญ่ที่สุดของนโยบายนี้ เราตั้งเป้าให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/ปี เพื่อจะเป็นการยกระดับให้ทุกคนในครอบครัวเลยเส้นความยากจน แต่กว่าจะถึงจุดนี้เราต้องทำอีกหลายอย่างค่ะ” แพทองธาร เกริ่นนำถึงที่มานโยบาย Soft Power ของรัฐบาล ในอดีตตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ได้เคยสร้าง Ecosystem ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่สร้าง Soft Power มากมาย ศูนย์สร้างสรรค์ TCDC , กรุงเทพเมืองแฟชั่น , OTOP , ครัวไทยสู่ครัวโลก และอีกมากมายที่เราได้สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุน Soft Power บางอย่างไปได้ดีและคงอยู่จนถึงปัจจุบัน บางอย่างต้องได้รับการพัฒนาต่อค่ะ และบางอย่างหายไปเพราะพิษการเมือง
แพทองธาร กล่าวว่า การเป็นรัฐบาลครั้งนี้ “คิดใหญ่ และทำใหญ่กว่าที่เคยทำอดีต” เราเรียนรู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้างและต้องทำทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เพราะเรื่องนี้ทำแค่ 4 ปีไม่พอ สิ่งที่เราทำในวันนี้อาจจะออกผลเต็มที่ให้อีก 10 ปีข้างหน้า แล้วการพัฒนาให้เกิด Soft Power ในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีทางลัด แต่วันนี้เราเริ่มแล้ว
สร้าง 3 เสาหลักหนุน Soft Power
หัวใจสำคัญของการพัฒนาให้ประเทศไทยเกิด Soft Power คือการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพคนทำงานรุ่นใหม่ และทำให้อุตสาหกรรมเติบโต ซึ่งได้แบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน คือ คนอุตสาหกรรม และการต่างประเทศ
การพัฒนาคน นั่นคือนโยบาย หนึ่งครอบครับ หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ เรามองภาพใหญ่ว่าหากจะยกระดับศักยภาพของคนไทย 20 ล้านคน ให้เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำ เป็นแรงงานทักษะสูง มีทักษะเฉพาะทาง มีความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถประกอบอาชีพที่ได้เงินสูงขึ้นได้
การพัฒนาอุตสาหกรรมตอนนี้เราอยู่ในกระบวนการตั้งหน่วยงาน Thacca ที่จะเป็นศูนย์กลางทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์โดยเฉพาะ เป็นเอเจนซี่ของประเทศไทย ศูนย์อำนวยความสะดวก ใครอยากจะติดต่อ จะประสานงานกับหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนในประเทศไทย ก็สามารถทำงานกับ Thacca ได้โดยตรง
รวมถึงทำหน้าที่ การพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อปลดล็อกศักยภาพ แก้กฎหมาย สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม สร้างการทำงานที่เน้นภาคเอกชนเป็นผู้นำ ให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรม เป็นผู้สะท้อนเสียงที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแข็งแรง
การต่างประเทศ จะต้องมีแผนงานการส่งออกของดีของเรา ว่าเหมาะกับประเทศไหนจะส่งออกได้อย่างไร ให้ของดีที่เรามี Match กับ ความต้องการของตลาดให้มากที่สุด
“ทั้งสามอย่างนี้ต้องทำงานสอดประสานเคียงคู่กันไปค่ะ ในระยะแรกเราตั้งเป้าหมายใน 11 อุตสาหกรรม มีหนังสือ อาหาร ภาพยนตร์และซีรีส์ เพลง เทศกาล ออกแบบ ศิลปะ เกม แฟชั่น ท่องเที่ยว กีฬา ในอนาคตเราจะพัฒนาในอีกหลายๆ อุตสาหกรรม” แพทองธารระบุ
การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร
การทำนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสิ่งที่รัฐบาลจะทำ คือ
1. การพัฒนาศักยภาพแรงงาน Reskill Upskill เพื่อเพิ่มรายได้ พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม พัฒนานโยบายต่างประเทศเพื่อส่งออกวัฒนธรรม ทั้งหมดเพื่อสร้างให้ประเทศไทยเกิด Soft power เมื่อต่างชาติโอบรับวัฒนธรรมของเรามากขึ้น โอกาส สร้างเม็ดเงินให้คนไทยเพิ่มขึ้น มีโอกาสส่งออกสินค้าแฟชั่น อาหาร งานคราฟต์ รวมถึงคอนเทนต์ หนังสือ เพลง ละคร ซึ่งจะสร้างงานสร้างเงินให้กับคนไทยอย่างมหาศาล
2. มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย
ต้องบอกว่ามีเครื่องมือที่หลากหลาย เพราะในแต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะที่แตกต่างกัน และมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันเลย จึงมีข้อเสนอที่แตกต่างและเหมาะสมเฉพาะอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มีการพูดคุยกันเรื่องการคืนภาษีให้กับกองถ่ายไทยและกองถ่ายต่างประเทศซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงพูดคุยกับหน่วยงานอื่นๆ อีกเรื่องคืออาจจะมีกองทุนที่ช่วยสนับสนุนให้กับคนทำงาน อย่างคนเขียนบทในระหว่างช่วงพัฒนาบท รวมไปถึงการสนับสนุนภาพยนตร์ไปฉายในต่างประเทศ หรืออย่างที่ทำไปแล้วการปลดล็อกกฎหมายห้ามฉายหนังในประเทศไทย เป็นต้น
ในอุตสาหกรรมเทศกาล งานกองถ่าย และงานคอนเสิร์ตก็พยายามที่จะทำ One stop Service เพื่อทำให้เกิดการจัดงาน การถ่ายทำที่ง่ายขึ้น ไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน รวมทั้งยังมีการปลดล็อกกฎหมายในอีกหลายอุตสาหกรรมอีกหลายสิ่ง ที่ต้องขอขอบคุณ อนุกรรมการทุกคน ทุกคณะ เพราะทุกคนทำงานด้วยใจเพื่อพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
“โอกาสของซอฟต์พาวเวอร์ไทยในตลาดโลก มีมากมาย เราเชื่อมั่นในต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยค่ะ ว่าเรามีเสน่ห์ที่ทั่วโลกต่างต้องหลงรัก ที่สำคัญเราเชื่อว่า มนุษย์สามารถรับหลายวัฒนธรรมได้พร้อมกัน ไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่แล้วค่ะ ตัวอย่างง่ายๆ เมื่อวานเราอาจจะอยากกินพาสต้า พิซซ่าอาหารอิตาลี วันนี้อยากกินราเม็ง อาหารญี่ปุ่น ในวันพรุ่งนี้อาจจะอยากกินส้มตำ อาหารไทย เราสามารถโอบรับวัฒนธรรมหลายประเทศได้ในคราวเดียวค่ะ”
รวมไปถึงกระแสความนิยม ภาพจำมันก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อก่อนพูดถึงซีรีส์ อาจจะต้องเป็นอเมริกา แต่ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักซีรีส์เกาหลีที่ดังไปทั่วโลก ธรรมชาติของมนุษย์ชอบการเสพสิ่งใหม่ สิ่งที่แตกต่างอยู่เสมอ คณะซอฟต์พาวเวอร์ จึงเชื่อเสมอว่ายังมีพื้นที่ว่างสำหรับของดีของไทย ที่จะไปสร้าง Soft Power ทั่วโลกอย่างแน่นอน ที่สำคัญ คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการผสมผสานพลิกแพลง มีความอิสระทางความคิด มีความสบาย ความชิลล์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรา เพียงแค่เราต้องพัฒนาการสร้างอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ เติมเทคโนโลยีลงไป และยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของเราไว้นั่นจึงจะเป็นจุดที่สำคัญที่ประเทศไทยจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์
สุดท้ายทิศทางของคอนเทนต์ในตลาดโลก เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ผลิตรายการไทย แพทองธาร กล่าวว่า เรื่องทิศทางคอนเทนต์ เราเชื่อว่าเอกชนที่ทำงานด้านนี้ย่อมรู้ดีว่าทิศทางเป็นอย่างไร เราเชื่อมั่นในเอกชนไทยค่ะ ในมุมมองของคนขับเคลื่อน ทุกวันนี้คอนเทนต์มีความหลากหลายมากค่ะ แล้วงานที่ประสบความสำเร็จบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง หลายครั้งมันเป็นเรื่องของไอเดียที่แปลกใหม่สร้างสรรค์มากกว่าโปรดักชั่นใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดที่เราแข็งขันได้ ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เราอาจจะต้องมาโฟกัสในเรื่องไอเดีย เรื่องบท ซึ่งทีมซอฟต์พาวเวอร์กำลังให้ความสำคัญกับการสร้าง Ecosystem เรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่มากขึ้นจากอุตสาหกรรม Streaming ซึ่งเติบโตอย่างมาก ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการภาพยนตร์และซีรีส์ระบุว่า ในตอนนี้ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเจ้าหลักในการส่งออกซีรีส์ลงสู่ Streaming เราเห็นซีรีส์เกาหลีในทุกค่าย Streaming เลย
แต่ตอนนี้ตลาดซีรีส์เกาหลีใต้กำลังหดตัว เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องราคา เพราะต้นทุนที่สูงมาก ซีรีส์หนึ่งตอนอาจจะมีราคามากกว่า 1 ล้านเหรียญยูเอสดีต่อตอน ซึ่งทำให้ Streaming บางเจ้าอาจจะสู้ไม่ไหว ทำให้การเติบโตในการส่งออกซีรีส์เกาหลี มีมูลค่าลดลงในปีที่ผ่านมา
“นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมซีรีส์ไทยที่จะใช้จังหวะนี้ ในตอนที่เรามีต้นทุนที่ถูกกว่ามากๆ ค่ะ แน่นอนว่าเราอาจจะสู้ไม่ได้ในด้านคุณภาพตอนนี้ แต่ในด้านราคาเรามีแต้มต่อ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังให้ความสำคัญค่ะ” และนี่คือทิศทางการเปลี่ยนแปลงประเทศ ด้วยนโยบาย Soft Power ของไทย พร้อมการสนับสนุนและขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย ที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ"