Last updated: 27 ธ.ค. 2566 | 913 จำนวนผู้เข้าชม |
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และตัวแทนจากสถานีต่างๆเข้าร่วมประชุมและให้ความคิดเห็นต่อสำนักงานกสทช.เพื่อคัดค้านและขอให้ทบทวนประกาศกสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ว่าถูกต้องหรือเป็นธรรมหรือไม่
โดยมีนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคม, นายฉัตรชัย ตะวันธงค์, นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย อุปนายก, นางสาวจิตรลดา เฮงยศมาก ที่ปรึกษา, นายเดียว วรตั้งตระกูล เลขานุการและตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เข้าร่วมให้ความคิดเห็นต่อประกาศดังกล่าวใน 4 ประเด็นสำคัญดังนี้
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรตัวแทนของสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเชิงพาณิชย์ทุกช่อง ได้รวบรวมเสียงสะท้อนผลกระทบ และแสดงความเห็นค้านต่อการบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว โดยสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. .ความจริงที่ต้องยอมรับของภูมิทัศน์การรับชม คนไทยส่วนใหญ่ยังรับชมฟรีทีวีผ่านระบบ
กล่องรับสัญญานดาวเทียมระบบซีแบนด์ ( C band)
จากข้อมูลการสำรวจการรับชมโทรทัศน์ที่ให้บริการป็นการทั่วไป หรือ “ฟรีทีวี” ทั่วประเทศโดย เอซีนีลเส็น ครั้งล่าสุด ประจำเดือนกันยายน 2566 จากจำนวนบ้านที่มีทีวี 26,298,000 ครัวเรือน จำนวนประชากรผู้ชมทีวี 61,465,000 ล้านคน ผู้ชมรับชม “ฟรีทีวี” ผ่านระบบโครงข่ายภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial) มีอัตราลดลงอย่างมีนัยยะเหลือเพียง 18% เท่านั้น เนื่องจากผู้ชมไม่สามารถเข้าถึงในพื้นที่ที่เป็นจุดอับสัญญาณ และผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) หยุดการพัฒนาขยายฐานโครงข่ายมานานแล้ว ประกอบกับการรับชมผ่านแพลตฟอร์มอื่นที่สามารถเข้าถึงง่ายและทั่วถึงมากกว่า ดังนั้นผู้ชมส่วนใหญ่ของประเทศจึงยังรับชม “ฟรีทีวี” ผ่านกล่องรับสัญญานดาวเทียม ซึ่งมีอัตราการรับชมสูงถึง 62% โดยเฉพาะระบบซีแบนด์ (C band) ที่ครองสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของฐานผู้ชมฟรีทีวีทั้งหมด ในขณะที่ผู้รับชมผ่านระบบ IPTV, OTT ก็มีอัตราการเติบโตเทียบเท่าระบบโครงข่ายภาคพื้นดิน 18% แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของเทคโนโลยี
จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนความล้มเหลวของกสทช. ที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านการรับชมฟรีทีวีสู่ระบบโครงข่ายภาคพื้นดินตามคำชี้ชวนให้ผู้ประกอบการเข้าประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในครั้งนั้นได้ ความจริงที่ต้องยอมรับคือ คนไทยส่วนใหญ่ยังรับชมฟรีทีวีผ่านระบบกล่องรับสัญญานดาวเทียมระบบซีแบนด์ (C band) ที่จำเป็นต้องมีกฏมัสต์แครี่ (must carry) และประกาศเรียงช่องกำกับอยู่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของผู้ชมฟรีทีวีและทำให้ธุรกิจโทรทัศน์ระบบดิจิตอลระดับชาติยังดำเนินต่อไปได้
ดังนั้น ประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) จึงควรต้องทบทวน และพิจารณาให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์การรับชมของคนไทยในปัจจุบันที่ปรากฏตามข้อเท็จจริง ดังนี้
1.1 โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระบบซีแบนด์ (C band) ถือเป็นหัวใจของการรับชม “ฟรีทีวี”
ของประเทศ เป็นแพลทฟอร์มหลักที่มีสัญญานการรับ-ส่ง ครอบคลุมทุกพื้นสภาพพื้นที่ ของไทย ที่ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม มูลค่ารวมการประมูลใบอนุญาต ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินในปี 2556 กว่า 50,862 ล้านบาท หาก ไม่มีกฏมัสต์แครี่ (must carry) และประกาศเรียงช่อง ให้สามารถรับชมฟรีทีวีในแพลตฟอร์ม ต่างๆ มูลค่าการประมูลดังกล่าวแทบจะไม่มีความหมายตามประกาศชี้ชวนของกสทช.เมื่อ ครั้งเปิดประมูลเลย
1.2 ความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีสู่ระบบโครงข่ายภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial ทำให้กฏมัสต์แครี่ (must carry) และกฏการเรียงช่องยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อระบบการออกอากาศ “ฟรีทีวี” ของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมได้ผ่าน หลากหลายแพลตฟอร์มทั้งทีวีดาวเทียม, เคเบิลทีวี และไอพีทีวี (IPTV) โดยไม่เกิดความ สับสนตามกติกาเดิมที่กำหนดไว้ในการเปิดประมูลใบอนุญาต
2..ลำดับบริการโทรทัศน์ หมายเลข 13-36 เป็นลำดับช่องที่กำหนดให้แก่การบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ในระบบดิจิตอล “ประเภทกิจการทางธุรกิจระดับชาติ” ที่ต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ตามที่กฏหมายกำหนด และ กสทช ให้ความคุ้มครองด้วยกฎมัสต์แครี่ และประกาศเรียงช่อง
ความสำคัญของลำดับช่องหมายเลข 13-36 ผันแปรต่อราคาประมูลที่ผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นผู้เลือกหมายเลขก่อน เมื่อกสทช.ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์การรับชมตามคำชี้ชวนได้ กสทช.จึงชดเชยการเข้าถึง โทรทัศน์ภาคพื้นดินของประชาชนด้วยการออกกฏมัสต์แครี่ และประกาศเรียงช่องให้นำโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ใช้คลื่นความถี่ออกอากาศในแพลตฟอร์ม ทีวีดาวเทียม, เคเบิลทีวี และไอพีทีวี (IPTV) ที่เข้าถึงผู้ชมรวมกว่า 80% โดยผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินต้องรับภาระค่าส่งสัญญาน (uplink) สู่ระบบดาวเทียมเพิ่มเอง
การที่ กสทช.ออกประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ที่เปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มดาวเทียม เคเบิลทีวี และ IPTV สามารถนำช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่มาจัดเรียงในลำดับช่องที่ว่างอยู่จากการคืนใบอนุญาตตามมาตรา 44 เมื่อปี 2561 สะท้อนความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการประมูลใบอนุญาตเพื่อใช้คลื่นความถี่ แต่เปิดเงื่อนไขให้ช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่สามารถจัดเรียงในพื้นที่เดียวกันโดยไม่ต้องใช้เงินประมูลหรือจ่ายค่าตอบแทนใดๆแก่ กสทช. เพียงแต่จ่ายเงินค่าเรียงช่องในแพลตฟอร์มเหล่านั้นในมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าการประมูลหลายสิบเท่า เป็นการสร้างสนามแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่ไม่เท่าเทียม และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการประกอบกิจการโทรทัศน์ของผู้รับใบอนุญาตประเภทที่ใช้คลื่นความถี่เป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังเป็นเปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มหารายได้จากการขายเลขลำดับช่องโดยอาศัยความนิยมของช่องรายการทีวีภาคพื้นดินเพิ่มมูลค่าสร้างทำเลทองในการขายเลขลำดับช่องอีกด้วย อนึ่งหมายเลขช่องดังกล่าวถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ ที่มีอยู่อย่างจำกัด เหมือนหมายเลขโทรศัพท์ที่กสทช. ควบคุมทางด้านโทรคมนาคม ดังนั้น กสทช. ต้องควบคุมหมายเลขช่อง เพื่อให้ผู้ประกอบทุกรายที่ใช้หมายเลขช่องดังกล่าวแข่งขันอย่างเป็นธรรม
3..การยกเว้นค่าประมูลใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย ไม่ได้หมายความว่าทีวีดิจิตอลไม่มีต้นทุนแล้ว
แม้จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล จากมาตรา 44 ในปี 2561 ที่ยกเว้นค่าประมูลสองงวดสุดท้าย (งวดที่ 5-6) แต่ไม่ได้หมายความว่าต้นทุนของผู้ประกอบการจะหายไป เป็นเพียงส่วนลดจากการที่ กสทช.ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์การรับชมได้ และต้นทุนใน 4 งวดแรกที่ได้ชำระไปแล้ว ยังเป็นต้นทุนทางบัญชีที่ผู้ประกอบการต้องตัดบันทึกค่าใช้จ่าย (amortize) ทุกเดือนตลอดอายุสัมปทาน 15 ปี
4. .ความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
หากประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้ โครงข่าย เคเบิลทีวี, ทีวีดาวเทียม และ ไอพีทีวี (IPTV) สามารถแทรกช่องโทรทัศน์ที่ให้บริการแบบไม่ใช้ความถี่ในลำดับและพื้นที่ของทีวีดิจิตอลที่ว่างอยู่โดยไม่มีกฏกติกาที่ชัดเจน จะส่งผลกระทบในด้านต่างๆที่ไม่เป็นธรรมกับทีวีดิจิตอลหลายประการ ดังนี้
4.1 ความคมชัด
จากประกาศฯฉบับนี้ ช่องรายการทีวีที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ สามารถออกอากาศในระดับความคมชัดสูง (High Definition หรือ HD )โดยไม่มีข้อจำกัดในโครงข่ายดาวเทียม, เคเบิล และ IPTV ถูกจัดวางในลำดับช่องที่ว่างใกล้เคียงกับช่องรายการทีวีดิจิตอลความคมชัดมาตรฐานปกติ (Standard Definition หรือ SD) ย่อมเห็นความแตกต่าง เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันอย่างชัดเจน
4.2 ด้านเนื้อหารายการ กลุ่มประเภทรายการ
จากประกาศฯฉบับนี้ โครงข่ายสามารถนำช่องรายการที่มีเนื้อหารายการแบบใดประเภทใดก็ได้จัดวางในลำดับที่ว่างในพื้นที่ทีวีดิจิตอล ย่อมมีโอกาสในการนำช่องรายการที่มีเนื้อหาเหมือนหรือใกล้เคียงกันกับช่องทีวีดิจิตอลจัดวางติดกัน ซึ่งจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในด้านต้นทุนที่ต่างกัน เกิดการเสียโอกาสจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมทั้งการแย่งชิงผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณา เหนืออื่นใด ตามภาคผนวกของประกาศ กสทช. เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ได้กำหนดให้โทรทัศน์
ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติมีจำนวนทั้งสิ้น 24 ช่อง อันประกอบด้วย
ช่อง 13-15 สำหรับให้บริการโทรทัศน์ในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว
ช่อง 16-22 สำหรับให้บริการโทรทัศน์ในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ
ช่อง 23-29 สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในหมวดหมู่ความคมชัดปกติ
ช่อง 30-36 สำหรับให้บริการโทรทัศน์ในหมวดหมู่ความคมชัดสูง
ซึ่งปัจจุบัน ประกาศ กสทช. เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ยังมีผลใช้บังคับ กสทช.จึง ยังคงต้องมีหน้าที่ในการจัดหมวดหมู่การให้บริการโทรทัศน์ที่กำหนดในประกาศข้างต้นดังเดิม
4.3 ความแตกต่างของเวลาโฆษณา
ด้วยกฎหมายกำหนดไว้ให้ช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ สามารถโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาที/ชม.ในขณะช่องรายการที่ใช้คลื่นความถี่ของทีวีดิจิตอล โฆษณาได้ไม่เกิน 12.30 นาที/ชม. ซึ่งในมุมของผู้ชมย่อมไม่ต้องการชมโฆษณาเป็นเวลานาน ด้วยต้นทุนที่มากกว่าช่องรายการของทีวีดิจิตอลไม่สามารถปรับลดเวลาโฆษณาเพื่อแข่งขันได้ หากมีเนื้อหารายการประเภทเดียวกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ย่อมเกิดการเปรียบเทียบอย่างไม่เป็นธรรม และถูกแย่งชิงผู้ชมด้วยเงื่อนไขของต้นทุนที่ต่างกัน
4.4 เงื่อนไขการให้บริการภาครัฐ
ช่องรายการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ไม่ต้องจ่ายค่า USO ไม่มีกติกาต้องจัดสัดส่วนข่าวสารสาระและบันเทิง ตลอดจนภาระหน้าที่ในการนำเสนอและให้บริการรายการของภาครัฐ ในขณะที่ทีวีดิจิตอลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติและนำเสนอตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นบริการเพื่อคนพิการ เตือนภัยพิบัติ ข่าวสำคัญต่างๆของทางราชการ ภายใต้ข้อจำกัดในการจัดผังรายการและต้นทุนที่ต่างกัน หากถูกจัดลำดับช่องให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันย่อมเกิดการเปรียบเทียบมีความได้เปรียบเสียเปรียบจากมาตรฐานของกฏข้อบังคับที่ไม่เท่ากัน
จากข้อเท็จจริงที่รวบรวมเสียงสะท้อนความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการดังกล่าวสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กับสมาชิกสมาคมฯ ร่วมกันยื่นคำคัดค้านให้กสทช.ทบทวนการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) อย่างรอบคอบอีกครั้ง เพื่อความเป็นธรรมและไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ซึ่งถือเป็นทีวีแห่งชาติที่ทำหน้าที่ให้บริการข่าวสารสาระและความบันเทิงแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมตลอดมา