สมาคมฯเข้าร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการกสทช. กรณีฟุตบอลโลก 2022

Last updated: 12 พ.ย. 2565  |  716 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สมาคมฯเข้าร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการกสทช. กรณีฟุตบอลโลก 2022

(9 พ.ย. 65 สำนักงานกสทช.) สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเทศไทย โดย นายสุภาพ คลี่ขจาย และคณะทำงานสมาคมฯ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, นายเดียว วรตั้งตระกูล, นาวสาวนันทพันธ์ แสงไชย และนายอังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ ฯลฯ เข้าร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการกสทช. ตามที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อกรณีการจัดซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022


นายสุภาพ คลี่ขจาย และคณะทำงานของ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เดินทางมาเพื่อพบกับ กสทช. โดยระบุว่า กสทช. เชิญมาให้ความเห็น จากมติคณะทำงานเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 65 ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนำงบประมาณจาก กองทุน กทปส. สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย  ในฐานะที่กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และเป็นเจ้าของเงินรายได้ที่ต้องนำส่งให้ กสทช. ไม่ต้องการให้ กสทช. นำเงินดังกล่าวไปใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาดังกล่าว เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังต้องถือใบอนุญาตต่อไปอีก 7 ปี และยังคงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อใช้ในการพัฒนาและวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล หากว่า กสทช. นำเงินดังกล่าวไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม สมาคมโทรทัศน์ ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เรียกร้องให้หาแหล่งทุนอื่นแทน เพื่อให้มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งเห็นว่าคนไทยควรได้รับชม


"กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมาก อนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด)เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป"

สำหรับรายนามของ กรรมการเสียงข้างมาก ได้แก่ นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช./พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นายต่อพงศ์ เสลานนท์, และพล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช.
ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อย 2 เสียง ที่ไม่เห็นด้วย คือ ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ และนายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า การซื้อลิขสิทธิ์ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และน่าจะมีเงินจากส่วนอื่นมาสนับสนุนได้ 

 

 

 ศ. ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้โพสต์ แสดงความคิดเห็นใน 6 ประเด็นกรณีใช้เงินกองทุน กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
การใช้เงินกองทุนเพื่อซื้อเนื้อหาจากบริษัทเอกชนมาเผยแพร่ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล เพราะฟุตบอลโลกเป็นรายการที่มีมูลค่าทางธุรกิจและควรจะเป็นการลงทุนตามกลไกตลาด หากจะต้องอุดหนุนรายการควรจะเป็นในกรณีที่ต้องการตอบสนองวัตถุประสงค์เฉพาะอันไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการอุดหนุน เช่น รายการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รายการสำหรับชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีความเห็นว่า กฎมัสแฮฟ และกฎมัสแคร์รี่ มีส่วนทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการตามที่ระบุ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิก อาจจะมีแรงจูงใจลดลง เนื่องจากเมื่อได้สิทธิมาก็ไม่สามารถนำมาแสวงหารายได้ในเชิงพาณิชย์จากการแพร่ภาพเฉพาะในช่องทีวีแบบบอกรับสมาชิกได้
ในการประชุมครั้งนี้ทำให้ กสทช. จำเป็นที่จะต้องเร่งทบทวนผลดี ผลเสียของการบังคับใช้กฎ Must Have และ Must Carry ให้สอดคล้องกับบริบททางอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อลดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคมต่อไป
หวั่นกองทุน กทปส. ขาดสภาพคล่อง
ศ.ดร. พิรงรองยังชี้ประเด็นสำคัญที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นว่า การใช้เงินจำนวน 1.6 พันล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ส่งกระทบสภาพคล่องของกองทุน กทปส. และอาจส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศในการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากรในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ควรจะได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสภาวะดิจิทัลดิสรัปชั่นที่ส่งผลต่อวงการการสื่อสารของประเทศอย่างกว้างขวาง

 

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้