Last updated: 17 ต.ค. 2565 | 2093 จำนวนผู้เข้าชม |
"ฉากทัศน์พลวัตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เกาหลีใต้
การขับเคลื่อนสู่ระบบนิเวศสื่อใหม่ 2030s"
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ - Sikares Sirakan, Phd
การเรียบเรียงบรรทึกประสบการณ์ส่วนหนึ่งในระหว่างสองสัปดาห์ ของการเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติด้านการสื่อสารดิจิทัล ณ มหาวิทยาลัยโซกัง (Sogang University) ประกอบกับการศึกษาดูงานกิจการสถานีโทรทัศน์ อุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ การจัดแสดงนวัตกรรมสื่อสารดิจิทัล พิพิธภัณฑสถานและแกลเลอรี่ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ ผ่านการสังเกตวิถีชีวิตผู้คนแห่งมหานครร่วมสมัย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาสั้นๆ ผสานการทบทวนแนวคิดและแนวโน้มพัฒนาการทางเทคโนโลยีสื่อในรุ่งอรุณแห่งทศวรรษใหม่ โดยสรุปนำเสนอออกเป็น 4 ฉากทัศน์ การเรียนรู้ ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 พินิจกระบวนทัศน์ 6 ทศวรรษ (1950s - 2010s) อุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเกาหลีใต้ จาก “ผู้รับนวัตกรรม” (Adopter) พลิกผันสู่ “ผู้นำนวัตกรรมและวัฒนธรรมโลก” (Innovator)
การจัดแสดงวิวัฒนาการของปฏิรูปประเทศ ณ The National Museum of Korean Contemporary History โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทการศึกษาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสาร กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเกาหลีใต้ สะท้อนทิศทางของประเทศไว้ได้อย่างเจริญก้าวหน้า นับจากยุคการได้รับเอกราช การผ่านสงครามคาบสมุทรเกาหลี การเรียกร้องทางการเมืองและพัฒนากระบวนการทางประชาธิปไตย วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สู่ยุคการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด จากบทบาทผู้รับนวัตกรรมพลิกผันสู่บทบาทผู้นำนวัตกรรมโลก ณ ปัจจุบัน (นิทรรศการที่จัดแสดงชื่อว่า “For Peace, Democracy, and Prosperity, 1945-1987” และ “The Republic of Korea - The World – and I, 1987-present”)
เมื่อพิจารณาโรดแมปวิวัฒนาการอุตสาหกรรมสื่อสารจากการจัดแสดง ทำให้ได้เห็นความเชื่อมโยงในการวางโครงสร้างพื้นฐานของนิเวศอุตสาหกรรมสื่อสารของประเทศเกาหลีใต้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถมาถอดองค์ความรู้ที่สะท้อนได้ชัดเจนถึงการบูรณาการองค์ประกอบการพัฒนาอย่างมีทิศทาง ตัวชี้วัดตามเป้าหมายแผนพัฒนาประเทศ การประยุกต์ศาสตร์และศิลป์ ทั้งในมิติทางการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี (โครงสร้างพื้นฐานนิเวศสื่อในบริบทฮาร์ดแวร์ – Hardware) ผสานสู่มิติการพัฒนาเนื้อหาสาร คอนเทนต์ การผลิตสื่อสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (โครงสร้างพื้นฐานนิเวศสื่อในบริบทซอฟต์แวร์ – Software) ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “คลื่นวัฒนธรรม” (Korean Wave: Hallyu) ที่เริ่มพัฒนาแนวคิดตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980s ผ่านการขับเคลื่อนคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ “ฮัน-รยู 1.0” (1990s) ถึง “ฮัน-รยู 4.0” (2010s) สู่ทุกช่องทางการสื่อสารจากยุคแอนะล็อกสู่ดิจิทัล
เมื่อพิจารณาเส้นเวลาสำคัญ (Timeline) ณ จุดเริ่มต้นพัฒนาการฮาร์ดแวร์ในอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียง/กิจการโทรทัศน์ (ปลายทศวรรษ 1950s – 1970s)
ปี ค.ศ.1959 การผลิต “เครื่องรับวิทยุ Goldstar A-501” ผลิตภัณฑ์ตราสินค้าของเกาหลีเครื่องแรกๆ ในยุคใหม่ที่เข้าสู่ตลาดภายในประเทศ “เกาหลีทำ เกาหลีใช้”
ปี ค.ศ.1966 การผลิต “เครื่องรับโทรทัศน์ Goldstar VD-191” ผลิตภัณฑ์ตราสินค้าของเกาหลีเครื่องแรกๆ ในยุคใหม่ที่เข้าสู่ตลาดภายในประเทศ
ปี ค.ศ.1975 การเปิดตัว “เครื่องรับโทรทัศน์ Samsung TV BT-358KD” ผลิตภัณฑ์ตราสินค้าของเกาหลีที่ต่อมา Samsung ได้พัฒนาสู่ผู้ผลิตเครื่องรับและอุปกรณ์โทรทัศน์ระดับสากลในหลายทศวรรษต่อมา และก้าวสู่หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมทีวีในระดับโลก ณ ปัจจุบัน
วิสัยทัศน์ของภาครัฐและเอกชนเกาหลีใต้ในศตวรรษที่ 21 มีพัฒนาการลำดับต่อไป จาก “เมืองอัจฉริยะ” สู่ “เมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์และศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” โดยเกาหลีได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจากการวางระบบพื้นฐานโครงสร้างฮาร์ดแวร์ในช่วงเริ่มต้นแผนการปฏิรูปประเทศ ดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาคอนเทนต์ทางศิลปวัฒนธรรม ละครโทรทัศน์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ซีรีส์ เค-ป๊อป ศิลปิน/ดารา/ไอดอลเกาหลี ภายใต้วิสัยทัศน์ “คลื่นวัฒนธรรม - ฮันรยู” Hallyu/ K-culture การพัฒนายุทธศาสตร์อย่างจริงจังและมีระบบ ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่พัฒนาคู่ขนานไปกับภาคการผลิตนวัตกรรมสื่อสารของเกาหลีใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกนวัตกรรมวัฒนธรรมและได้กลายเป็นพื้นฐานรายได้ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศที่สำคัญ นับจากทศวรรษ 1990s ถึงปัจจุบัน
ฉากทัศน์ที่ 2 กรณีศึกษา “พัฒนาการช่วงเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมในกิจการสถานีโทรทัศน์เกาหลีใต้ และการเตรียมความพร้อมสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) และ เมตาเวิร์ส (Metaverse)”
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีเป็นวัฏจักรแห่งการพัฒนาขึ้นอยู่กับวิถีทรรศน์ มุมมองและการเตรียมความพร้อมของนักวิชาชีพสื่อและผู้ประกอบการ ในทศวรรษที่ผ่านมาสะท้อนได้จากการเปลี่ยนระบบจากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล หรือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มสื่อใหม่ที่หลากหลาย อาทิ เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ แพลตฟอร์มดิจิทัล โอทีที ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในลำดับวิวัฒนาการแห่งนวัตกรรมสื่อสารแต่ละช่วงสมัย ดังนั้นในบางบริบทอาจจะสามารถตีความได้ว่าคือ วิวัฒนาการ (Evolution) การเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่าน (Transformation) ดิสรัปชั่น (Disruption) หรือ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จากนวัตกรรมสื่อเก่าไปสู่สื่อใหม่ เมื่อพิจารณายุคสมัยของกิจการโทรทัศน์ ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมและยุคสมัยแห่งวิวัฒนาการกิจการโทรทัศน์
ในการเยี่ยมชมศึกษาดูงานสถานีโทรทัศน์ KBS – Korean Broadcasting System เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2022 สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษา “พัฒนาการช่วงเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมในกิจการสถานีโทรทัศน์เกาหลีใต้ และการเตรียมความพร้อมสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) และ เมตาเวิร์ส (Metaverse)” ดังนี้
1) สถานีโทรทัศน์ KBS – Korean Broadcasting System ได้นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) มาใช้ในกระบวนการผลิตรายการตลอดทั้งกระบวนการ (Pre-Pro-Post Production) ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการผลิตรายการ การถ่ายทำในสตูดิโอ การผลิตรายการ การตัดต่อ กระบวนการหลังการผลิต การแพร่สัญญาณภาพและเสียง การออกอากาศ การตลาดและการโฆษณา ในหลายรายการของทางสถานี ณ ปัจจุบันแล้ว (สิงหาคม 2022) โปรแกรมซอฟต์แวร์/เทคโนโลยีที่ใช้คือ vVertigo (ภาพที่ 9)
2) สถานีโทรทัศน์ KBS – Korean Broadcasting System ได้ร่วมกับ SK Telecom นำนวัตกรรมความจริงเสมือน Virtual Reality “Ifland” มาใช้ ตลอดจนการสร้างสตูดิโอและแพลตฟอร์มในโลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) “Let’s Be Together KBS” ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ไตรมาส 1/2022) เพื่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การจัดทำโพลล์ และเป็นช่องทางให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในโลกเสมือนจริงบนแพลตฟอร์ม ZEPETO ผ่านนวัตกรรม XR – AR – VR (ภาพที่ 10)
ซึ่งก่อนหน้านี้ กรณีศึกษาในการเตรียมความพร้อมของกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่พัฒนาและบูรณาการนวัตกรรมสู่ระบบนิเวศใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่
สถานีโทรทัศน์ MBN (พฤศจิกายน 2020) ได้พัฒนานวัตกรรมผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์ (AI Anchor) ที่หน้าที่รายงานข่าวออกอากาศจริง และผู้ประกาศข่าว Kim Joo-ha (มนุษย์) ต้นแบบ สามารถสื่อสารปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับ ผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์ ได้แบบ ณ เวลาจริง Realtime (ภาพที่ 11) สืบค้นและศึกษาเพิ่มเติมที่ https://www.youtube.com/watch?v=k8X_Em-NQn0
SK Telecom (พฤษภาคม 2020) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของเกาหลีใต้เปิดให้บริการ “5Gx Baseball Streaming Service” นำเสนอ Multiview Service 12 มุมกล้องบริการผ่าน OTT platform ตลอดจนให้ข้อมูลเสริม และบริการ VR และ AR เสริมประสบการณ์ Immersive Experience ในระหว่างการชมแข่งการแข่งขันเบสบอล (ภาพที่ 12)
ฉากทัศน์ที่ 3 ถอดองค์ความรู้กลยุทธ์การตลาด K-POP และการเข้าสู่เมตาเวิร์ส
ในช่วงการการเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติด้านการสื่อสารดิจิทัล ณ มหาวิทยาลัยโซกัง (Sogang University) กรุงโชล ได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ “Learn How To Market Content; Success Stories From K-POP” โดย Justin Choi, CEO, KTOWN4U สามารถสรุปประเด็นสำคัญของกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด K-POP ดังนี้
1) ให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนในการสร้างศิลปิน การผลิตผลงาน ในทุกๆกระบวนการอย่างเป็นระบบ (Process Marketing: K-Pop Marketing)
- Preparation: การคัดเลือกศิลปินอย่างเข้มข้น (Audition) การเข้าอบรมใช้ชีวิตเรียนรู้ร่วมกัน (Dorm Life) การฝึกทักษะ/ความสามารถในการร้อง เต้น และการแสดง ฯลฯ (Training)
- Sales: ความพิถีพิถันในการผลิตผลงานเพลงคุณภาพและการออกแบบภาพลักษณ์ศิลปิน ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว มิวสิควิดีโอ และการสื่อสารต่างๆ
- Consumption: วางกลยุทธ์ในการนำเสนอและเผยแพร่ผลงาน คอนเสิร์ต ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ อย่างมีศาสตร์และศิลป์
2) พัฒนาเนื้อหาเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง (Serialization) เป้าหมายคือสร้างความน่าสนใจให้อยากตามต่อ เพิ่มช่องทางวิธีการเข้าถึง และสร้างความผูกพันและความประทับใจในตัว/กลุ่มศิลปิน
3) คุณภาพของงานสร้างสรรค์ต้องมาอันดับหนึ่งควบคู่กับความสม่ำเสมอในการสื่อสารกับบรรดาแฟนคลับของศิลปินตลอด 365 วัน สื่อสารสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน (Korean Idols) ผ่านช่องทางดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
4) แฟนคลับคือหัวใจของกระบวนการ การสร้างชุมชนที่คอยสนับสนุน (Support) ศิลปิน แฟนคลับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้าง เผยแพร่คอนเทนต์ ต้องใส่ใจในการตรวจสอบความคิดเห็น เทรนด์ความสนใจในโลกดิจิทัล
การก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์สโลกคู่ขนาน (Multiverse) ของศิลปินเกาหลี คอนเสิร์ตอวตาร์และการขยายฐานธุรกิจบันเทิงในโลกดิจิทัลของค่ายบันเทิงและเหล่าบรรดาศิลปิน K-pop เกาหลีใต้:ภาคอุตสาหกรรมบันเทิง K-pop เกาหลีใต้ ตอบรับและเปิดพื้นที่ในโลกดิจิทัล เพื่อสานต่ออุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง นับจากทศวรรษ 90s ยุคเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล สู่รุ่งอรุณแห่งยุคเมตาเวิร์ส ในระหว่างช่วงรอยต่อทศวรรษ มีพัฒนาการบุกเบิกการใช้นวัตกรรมการนำเทคโนโลยีส่วนต่อขยายความจริง (XR-Extended Reality) ที่น่าสนใจดังนี้
aespa (เอสป้า แห่งค่าย SM Entertainment) เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง เปิดมินิอัลบั้มใหม่พร้อมการเปิดตัวเป็น ‘เกิร์ลกรุ๊ปเมตาเวิร์ส (Metaverse Girl Group) โดยที่ aespa สร้างตัวตนเสมือนจริงอัตลักษณ์ของสมาชิกวงร่วมกับอวาตาร์ ชื่อว่า ‘æ-aespa’ และร่วมแสดงในมิวสิควิดีโอ และมิวสิคซีรีส์ของวงตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งโปรดักชั่นการผสานศิลปินและอวาตาร์ในโลกเสมือนจริงที่น่าสนใจศึกษาได้แก่ ผลงานการเปิดตัว aespa and their avatar (æ-aespa) Black Mamba The Debut Stage (พฤศจิกายน 2020) และมิวซิคซีรีส์ aespa 에스파 'ep1. Black Mamba' - SM Culture Universe (นำเสนอเมื่อ 11 พฤษภาคม 2021) มีผู้เข้าชมสะสมกว่า 11 ล้าน
นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาศิลปิน K-pop ที่น่าสนใจศึกษาการใช้นวัตกรรมการนำเทคโนโลยีส่วนต่อขยายความจริงในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ได้แก่
AleXa (알렉사) ศิลปินหญิงชื่อดังเปิดตัวงานพบปะแฟนคลับรูปแบบดิจิทัลออนไลน์ในโลกเมตาเวิร์ส โดยใช้ชื่องานว่า "Global Fan Party" Metaverse Event เป็นการขยายกิจกรรมและธุรกิจของอุตสาหกรรมเพลงในพื้นที่ใหม่
แบลค พิงค์ Blackpink ร่วมกับ NAVER Z เปิดตัวอวาตาร์ แบบสามมิติ
บริษัท Pulse9 สร้างเกิร์ลกรุ๊ปปัญญาประดิษฐ์ “ETERN!TY (이터니티)” – เปิดตัวด้วยผลงานเพลง I'm Real
ตัวอย่างในเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นการประกาศตัวของบรรดาศิลปินของค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้สู่ดินแดนเมตาเวิร์ส โลกคู่ขนาน (Multiverse) กายภาพและดิจิทัล
นอกจากนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สื่อดิจิทัล และสื่อใหม่ของเกาหลีใต้ ได้แก่ การประกาศแผนการลงทุนและพัฒนาในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของบรรดาอภิมหาบริษัทหลายแห่ง อาทิ
SK Telecom เปิดตัวโครงการ K-pop Metaverse พัฒนาแพลตฟอร์ม ผลิตและเผยแพร่ผลงานผ่านแอปพลิเคชั่น Jump AR
การเปิดบริษัทใหม่ชื่อว่า Metaverse Entertainment Inc. (ธุรกิจร่วมทุนระหว่าง Netmarble บริษัทผู้พัฒนาเกมออนไลน์ และ Kakao บริษัทสื่อดิจิทัล ภายใต้กรอบแนวคิด “a synergy effect from the mix of meta-human technologies and entertainment.” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างวงเกิร์ลกรุ๊ปในโลกเสมือนจริง (Virtual K-pop Girl Group) โดยจะใช้ชื่อวงว่า “MAVE” ประกอบด้วยสมาชิกปัญญาประดิษฐ์ทั้งสี่ ฯลฯ
ฉากทัศน์ที่ 4 โลกคู่ขนาน โลกกายภาพ ผสาน โลกดิจิทัล: การเตรียมพร้อมของมหานคร กรุงโซล และ เกาหลีใต้ เข้าสู่นิเวศนวัตกรรมใหม่
“โลกความเป็นจริง” (The Real World) หรือ “โลกทางกายภาพ” (The Physical World)
“โลกเสมือนจริง” (The Virtual World) หรือ “โลกดิจิทัล” (The Digital World)
จากประสบการณ์ ณ กรุงโซลในช่วง 2 สัปดาห์ในเดือนสิงหาคม 2022 ได้มีประสบการณ์จริงกับการเตรียมความพร้อมสู่กรุงโซล และประเทศเกาหลีใต้ยุคใหม่ ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในความพยายามที่ภาครัฐทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่ประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนประเทศเกาหลีใต้สู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญ ของ นาย โอ ซี-ฮูน (Oh Se-hoon) ผู้ว่าราชการ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนสู่ “กรุงโซลมหานครเมตาเวิร์ส” (Metaverse Seoul) ซึ่งได้เริ่มต้นโครงการช่วงส่งท้ายปี 2021 และก้าวสู่ปีใหม่ 2022 มีเป้าหมายเพื่อบรรลุความสำเร็จในช่วงกลางทศวรรษ 2020s
ในระหว่างที่อยู่ที่โซลได้สัมผัสประสบการณ์ สภาพการณ์สิ่งแวดล้อมที่ผสมผสานระหว่าง “โลกความเป็นจริง” (The Real World) หรือ “โลกทางกายภาพ” (The Physical World) ผสานเข้ากับ “โลกเสมือนจริง” (The Virtual World) หรือ “โลกดิจิทัล” (The Digital World) ผ่านการบูรณาการทางเทคโนโลยีสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ได้แก่ 1) เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและเว็บ ผสานกับ 2) เทคโนโลยีส่วนต่อขยายความจริง (XR-Extended Reality) โดยที่เทคโนโลยีพื้นฐานของระบบทั้งสาม ได้แก่ VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality) และ MR (Mixed Reality)” โดยประสบการณ์ที่สำคัญ ได้แก่
1) การประชุมแบบผสมผสาน ตัวตนจริง เข้าร่วมเสวนาแบบกายภาพ และ อวตาร์ เข้าร่วมประชุมแบบ เมตาเวิร์ส ในโลกดิจิทัล ณ มหาวิทยาลัยโซกัง โดยจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้พัฒนาระบบยืนยันว่า การประชุมแบบผสมผสานในรูปแบบนี้มีจัดขึ้น ในการประชุมทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศเกาหลีใต้โดยทั่วไปอย่างแพร่หลายในหลากหลายสาขา วาระ และบริบท
2) การเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงโซล พบว่ามีการแสดงและให้บริการใช้งานนวัตกรรม VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality) และ MR (Mixed Reality) เป็นการทั่วไปเพื่อเสริมประสบการณ์การเรียนรู้และความรู้สึกร่วมของประชาชน
3) พบเห็นผู้ใช้บริการเทคโนโลยีส่วนต่อขยายความจริง (XR-Extended Reality) ผ่านเทคโนโลยีพื้นฐานของระบบทั้งสาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่
จากบทความ “ฉากทัศน์พลวัตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เกาหลีใต้: การขับเคลื่อนสู่ระบบนิเวศสื่อใหม่ 2030s” มีวัตถุประสงค์โดยสังเขป สำรวจทบทวนนวัตกรรม ถอดรหัสความสำเร็จคลื่นวัฒนธรรม (Korean Wave: Hallyu 1.0 - 4.0) ผ่านอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ (K-creative Industry) “การขับเคลื่อนคลื่นวัฒนธรรม “ฮัน-รยู 1.0 - 4.0” สู่คลื่นนวัตกรรม “เมตาเวิร์สโซล” บูรณาการผสานโลกกายภาพกับโลกดิจิทัล” เป็นการเรียบเรียงบันทึกประสบการณ์ส่วนหนึ่งในระหว่างสองสัปดาห์ (14 – 28 สิงหาคม 2022) ของการเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติด้านการสื่อสารดิจิทัล ณ มหาวิทยาลัยโซกัง (Sogang University) และการศึกษาดูงานกิจการสถานีโทรทัศน์ อุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ การจัดแสดงนวัตกรรมสื่อสารดิจิทัล พิพิธภัณฑสถานและแกลเลอรี่ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ ผ่านการสังเกตวิถีชีวิตของผู้คนแห่งมหานครร่วมสมัย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ผ่าน 4 ฉากทัศน์การเรียนรู้ เพื่อต่อยอดไปสู่การทำความเข้าใจกระบวนทัศน์แนวคิดพื้นฐาน 3 มิติ (3 Dimensions) ในระบบ “ภูมิทัศน์สื่อใหม่” ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยน (Transformation) 2) การบูรณาการ (Integration) 3) วิวัฒนาการ (Evolution) และ แกนหลักองค์ประกอบ 3 บริบท (3 Elements) ในระบบ ได้แก่ 1) ระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) 2) นวัตกรรม (Innovation) 3) การสร้างสรรค์สารวิถีใหม่ (Advanced Content Creation) ซึ่งการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ในบริบทดังกล่าวนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อก้าวสู่ทศวรรษ 2030s ต่อไป
*** บทความแนะนำอ่านประกอบ "วารสารศาสตร์ เมตาเวิร์ส: ปฐมบทแห่งการอภิวัฒน์การสื่อสารทศวรรษ 2020s - Metaverse Journalism: A Prologue to Communication Reformation 2020s"
โดย ดร. สิขเรศ ศิรากานต์ Dr. Sikares Sirakan (5 ธันวาคม 2021) *บทความพิเศษ น.137-173
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF หนังสือ “THE MEDIA: A NEW TURNING POINT"
http://www.thaibja.org/wp.../uploads/2021/12/Binder1-1.pdf หรือ http://adobe.ly/3EfU4Kr