PRESS CONFERENCE วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 11.00-12.30 น.

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  1315 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PRESS CONFERENCE  วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เวลา 11.00-12.30 น.

 

วันที่ 6 ตุลาคม 2565  เวลา 11.00 น.

สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด และ สำนักงานกสทช. สรุปข้อมูลเรตติ้งโครงการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ประเภทการสำรวจรายการดิจิทัลแบบ CROSS PLATFORM และรายงานข้อมูลประจำเดือนกันยายน ผ่านระบบ Google Meet  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นตัวแทนจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระะบบดิจิทัล ประเภทสาธารณะ มีเดียเอเจนซี่ ผู้ที่สนใจ ตัวแทนจากสถาบันศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ

คุณสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่มีส่วนในการผลักดันโครงการนี้ โดยได้ขอบคุณสำนักงานกสทช.  บ. เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ประเทศไทย และกลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 15 ช่อง ที่ร่วมแรงร่วมใจ จากข้อมูลชุดแรกที่ได้มีการส่งมอบในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ทางสมาคมรู้สึกภูมิใจที่เห็นว่าคนไทยยังรับชมโทรทัศน์เป็นหลักจำนวนมาก ขณะเดียวกันการรับชมผ่านช่องทางสตรีมมิ่งก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรับชมอย่างมากเช่นกัน สมาคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเรตติ้งแบบใหม่นี้จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งอุตสาหกรรมและผู้ที่สนใจ และเป็นการวางรากฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับชมสื่อในปัจจุบัน ที่ผนวกโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดในการวางกลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม 

โดยสมาคมจะมีการส่งออกข้อมูลเรตติ้งรายเดือนให้กับสาธารณะประจำทุกเดือน สำหรับเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform Rating) พัฒนามาจากเรตติ้งการรับชมโทรทัศน์ โดยต่อยอดการวัดผลเพื่อให้ครอบคลุมการรับชมที่นอกเหนือไปจากการรับชมสดผ่านทางโทรทัศน์ อาศัยการใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูล ผสานกับการใช้ Big Data จากการ Tagging บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น และเทคโนโลยี Data Science ที่ใช้ในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
ข้อมูลเรตติ้งจะครอบคลุมทั้งเนื้อหารายการและเนื้อหาโฆษณา จากทั้งรายการสดรายการย้อนหลังจากทุกหน้าจอและอุปกรณ์ของผู้ชมทั้งโทรทัศน์และดิจิทัล โดยมีมาตรวัดเดียวกันในการับชมทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงมีกระบวนการตัดผู้ชมซ้ำข้ามแพลตฟอร์มเพื่อสะท้อนภาพการรับชมที่แท้จริงของผู้ชมอย่างครอบคลุมและเที่ยงตรง และอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
คุณรมิดา ลีลาพตะ  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและการกำกับดูแลกันเอง สำนักงานกสทช. ได้กล่าวว่า เงินสนับสนุนจำนวนนี้เป็นเงินสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศ ตามเจตนารมย์ของคำสั่งฯ การที่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้รับเลือกเป็นองค์กรกลาง เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุด เนื่องจากการสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบใหม่ Cross Platform Rating  ผู้ที่ได้นำไปใช้ประโยชน์โดยตรงก็จะเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ทั้งประเภทธุรกิจ ประเภทสาธารณะ ที่จะได้รู้ว่าในขณะนี้ภูมิทัศน์สื่อโดยเฉพาะโทรทัศน์ กลุ่มผู้ชมได้รับชมผ่านแพลตฟอร์มใดบ้าง  ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่จะทำให้สามารถนำมาปรับปรุง หรือพัฒนารูปแบบรายการให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา องค์กรการศึกษา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็จะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
 
คุณวรรณี  รัตนพล  ประธานคณะทำงานตรวจสอบการสำรวจความนิยมเรตติ้ง Cross Platform ได้กล่าวว่า กระบวนการ ในการตรวจสอบการสำรวจความนิยม ได้ดำเนินการมาควบคู่กันกับการทำงานของนีลเส็น ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมา คณะทำงานฯได้มีการติดต่อ คัดเลือก คัดกรองผู้ตรวจสอบอิสระจากต่างประเทศ จากทั้งหมดจำนวน 9 ราย และได้การคัดกรองมาเป็นระยะ ๆ และในขณะนี้ ทางคณะทำงานฯได้คัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามาตรวจสอบเสร็จแล้ว  คือ บริษัท CESP จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และมีประสบการณ์ในด้าน Audit ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  โดยจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบตามแผนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ในการทำงานครั้งนี้ เป็นการทำงานที่ตรวจสอบความถูกต้องและความโปร่งใสของการดำเนินการสำรวจความนิยม Cross Platform ในครั้งนี้ สำหรับข้อมูลเรตติ้งชุดแรกที่ได้รายงานแล้วเดือนสิงหาคมและกันยายน จะทำให้เห็นภาพรวมของผู้บริโภคชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อวงการมีเดียเอเจนซีในการนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจและวางกลยุทธ์ด้านเนื้อหาและโฆษณาได้ดีขึ้น โดยสามารถรับรู้พฤติกรรมทั้งคนดูทีวีผ่านหน้าจอแบบดั้งเดิมและผ่านดิจิทัลในเวลาเดียวกัน ซึ่งขัอมูลชุดนี้จะช่วยในการวางแผนว่าควรจะมิกซ์ในแง่สื่อดั้งเดิมกับออนไลน์อย่างไร เพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น 
 
คุณภูมิทัศน์  บุญยการ จากบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มแบบเต็มรูปแบบนี้ ครอบคลุมข้อมูลจากทั้งกลุ่มตัวอย่างและการขยายกลุ่มตัวอย่างจำลองจากเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล Census จะส่งมอบในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 หลังจากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มส่งมอบข้อมูลการรับชมจากกลุ่มตัวอย่างรับชมผ่านโทรทัศน์และอุปกรณ์ดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บแล็ต, สมาร์ทโฟน) ไปบ้างแล้ว ในส่วนของรายการสด ผ่านทีวีและสตรีมมิ่ง และในไตรมาส 4 ของปี 2565 นี้ จะครอบคลุมเพิ่มเติมการรับชมเนื้อหารายการย้อนหลัง
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลเรตติ้งเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า ผู้ชมอายุ 4 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ มีภาพรวมเรตติ้งอยู่ที่ 11.086% โดยคิดเป็นเรตติ้งจากการับชมผ่านโทรทัศน์แบบดั้งเดิมอยู่ที่ 7.483% และการรับชมผ่านช่องทางสตรีมมิ่งที่เข้ามาเพิ่มเติมเรตติ้งดังกล่าวอยู่ที่ 3.604% โดยช่องทางสตรีมมิ่งที่มีการรับชมมากที่สุดคือ Youtube (1.467%) รองลงมาคือ Tiktok (0.692%) และ Facebook (0.682%) ตามลำดับ รวมถึงการรับชมผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของช่องสถานีด้วยเช่นกัน
 
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดือนก่อนหน้าพบว่าจำนวนผู้ชมโตขึ้นจากเดือนสิงหาคมโดยเฉลี่ยโตขึ้น 2% ทั้งจากการรับชมผ่านช่องทางโทรทัศน์แบบดั้งเดิมและผ่านสตรีมมิ่ง ทั้งนี้เมื่อแยกเฉพาะช่องสถานี วัดจากผู้ชมทั่วประเทศผู้ชมอายุ 4 ปีขึ้นไป พบว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่การรับผ่านเครื่องเล่นทีวี ในขณะเดียวช่อง 3 HD ได้รับความนิยมสูงสุดในช่องสตรีมมิ่ง โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมารายการที่ได้รับเรตติ้งสูงสุด คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ 2022 (ไทย+เกาหลีใต้) จากช่อง WORKPOINT TV ด้วยเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มสูงสุดอยู่ที่ 9.447%

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการรายวัน 360


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้