Last updated: 1 ธ.ค. 2565 | 1179 จำนวนผู้เข้าชม |
(1 ธ.ค. 65) Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสัมมนา Media Alert 2565 “สังคมได้อะไร จากข่าวโทรทัศน์” เพื่อเสนอผลการศึกษา การนำเสนอข่าวช่วงเย็นและค่ำของทีวีดิจิทัลในช่วงเดือน ก.ค. ส.ค. ก.ย. 65 และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา จากผู้เชี่ยวชาญ ด้านวิชาการ วิชาชีพสื่อ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
งานเริ่มด้วย การบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทข่าวโทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เกริ่นนำการบรรยายว่า อยากเห็นการทำงานร่วมกันของภาคการกำกับดูแลและภาคส่งเสริม เพราะการทำให้สื่อมวลชนมีคุณค่าต่อสังคมต้องใช้หลายมาตรการ แม้จะมีเรื่อง Media Disruption แต่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ก็ยังอยู่ ยังคงเป็นแพลตฟอร์มสำคัญ
ต้องมีการแยกแยะระหว่างสื่อมวลชน กับสื่อที่ใครก็เป็นได้ สื่อมวลชน คือ สถาบันที่สังคมให้ความเชื่อถือได้ สังคมมีความคาดหวังได้เต็มที่กับสื่อมวลชน แต่ยากที่จะคาดหวังกับนักสื่อสารออนไลน์ ขณะที่ สื่อโทรทัศน์ ยังคงเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของสื่อวิชาชีพ “ข่าวโทรทัศน์เป็นหนึ่งในผลงานสื่อมวลชนที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เห็นคุณค่าและความสำคัญ เพราะรายการข่าวเป็นประเภทรายการที่สะท้อนหน้าที่สื่อมวลชนต่อสังคมที่ชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะบทบาทการแจ้งข่าวสารให้สังคม (Inform) ปัจจุบันทีวีดิจิทัลของไทยแต่ละช่องเลือกวางผังออกอากาศรายการข่าวเด่น (Flagship News Shows) ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยมักให้ความสำคัญกับข่าวช่วงเย็นถึงค่ำ ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ที่แข่งขันกันสร้างเรตติ้งอย่างลดคุณค่าและความสำคัญของรายการข่าว” การจัดสัมมนา Media Alert 2565 ในวันนี้ เพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอจาก องค์ปาฐก คณะวิทยากร และผู้ร่วมการสัมมนาทั้งทางออนไซต์และออนไลน์ ต่อผลการศึกษารายการข่าวเด่น (Flagship News Shows) ของ 14 ช่อง/สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล โดยเป็นรายการข่าวที่ออกอากาศในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2556 นี้ ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของทุกท่านในวันนี้ จัดทำเป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาคุณค่ารายการข่าวโทรทัศน์ รวมทั้งคุณภาพการเลือกรับชมข่าวโทรทัศน์ของผู้ชม เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเพื่อให้รายการข่าวโทรทัศน์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและพลเมือง ต่อไป
จากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษ “บทบาทข่าวโทรทัศน์ดิจิทัลต่อการพัฒนาพลเมือง” โดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ที่เริ่มจาก “พลเมือง” ตามแนวคิดของ T.H. Marshall จะต้องมี สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม เช่น สิทธิในการพูด การนับถือศาสนา การเข้าถึงกฎหมายอย่างเท่าเทียม การแสดงออกทางประชาธิปไตย โดยระดับพลเมืองขั้นสูงสุด จะต้องมีส่วนร่วมทางกฎหมาย ทางสังคม มีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในสังคมยังมีพลเมืองที่ไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมาย เช่น คนไร้บ้าน ชนเผ่าทางวัฒนธรรม คนในชุมชน เป็นต้น และหากดูตามกฎหมายของ กสทช. อาจหมายรวมถึงผู้ประกอบการสื่อชุมชนด้วย
สื่อโทรทัศน์ จะช่วยสร้างหรือเอื้อให้เกิดความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล ได้อย่างไร ? ขณะที่ ประชาชน มีบทบาทเป็นผู้บริโภคมากกว่า “พลเมือง” สื่อมีหน้าที่ในการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความเป็นพลเมือง เป็น “พลเมืองที่รู้แจ้งทางข่าวสาร” สื่อต้องสร้างความเป็นพลเมืองที่ข้ามปริมณฑลสาธารณะและส่วนบุคคล ดังนั้น การดูข่าวโทรทัศน์ ถือเป็นการสร้างปริมณฑลส่วนบุคคลในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการหล่อหลอมแนวคิดทางการเมืองให้ปัจเจกชน (Politic of the Living Room)
จากการสำรวจข้อมูลการใช้สื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ของต่างประเทศในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา พบว่าสื่อโทรทัศน์ยังมีบทบาท/ มีคนรับชม แม้อัตราการรับชมอาจลดลงบ้างแต่ก็ไม่ได้หายไป นอกจากนี้ ข่าวสารยังมีระบบชนชั้น โดยประเภทของข่าวจะมีสองแบบคือ Hard News และ Soft News ซึ่งคนที่เปิดรับสื่อ Hard News จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง (Middle and Upper Class) ส่วน Soft News จะเป็นกลุ่มผู้เสพในชนชั้นแรงงาน (Labor Class) มากกว่า แต่ Soft News/ Human Interests News ไม่มีคุณค่าจริงหรือ? จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอมากกว่า ว่านำแง่มุมไหนมานำเสนอประชาชน อาจนำเสนอให้มีทั้งความเป็น Hard News และ Soft News ผสมผสานกัน
การนำเสนอ “ความเป็นพลเมือง” ในข่าว
ในโครงสร้างในการนำเสนอข่าว มักให้ความสำคัญกับผู้มีบทบาททางสังคม มากกว่าให้ความสำคัญกับประชาชน ส่วนใหญ่สื่อจะเป็นผู้จุดประเด็น เป็นผู้บรรยายเหตุการณ์มากกว่าผู้แสดงความคิดเห็น และจะเสนอภาพประชาชนเป็นฝ่ายตอบสนองมากกว่าผู้นำเสนอ ประชาชนมักถูกนำเสนออย่างผู้แสดงสมทบ เช่น การให้ความเห็นสั้นๆ ในแบบ Vox Pop
ข่าวที่ทำแต่ละชิ้นส่งเสริมมิติความเป็นพลเมืองของประชาชนอย่างไร? อย่างน้อยสักหนึ่งเรื่องในความเป็นพลเมืองก็น่าจะสามารถนำมาสอดแทรกในเนื้อข่าวได้
แนวทางการทำข่าวในปัจจุบันนี้ มีสองแบบ
1. Narrow Issue Analysis -การวางกรอบ/ ข้อสันนิษฐานในการทำข่าว
2. Big Picture Analysis - การไม่ตีกรอบ แต่ให้พื้นที่กว้างๆ ไว้
ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาเรื่อง “ปลากุเลาตากใบ” ของไทยพีบีเอส ที่กลายเป็นปัญหาเรื่องความถูกต้อง ครบถ้วนในการนำเสนอ แต่ในมิติเรื่องพลเมือง จะเห็นว่าสภาประชาชนในภาคใต้เป็นผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข่าวนี้ ซึ่งทำให้เห็นบทบาทของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมกับการตรวจสอบสื่อ
เราจะเห็นว่า ความเชื่อถือของผู้คนจะอยู่ที่สื่อ เช่น โทรทัศน์ หรือสื่อหลักมากกว่าสื่อออนไลน์ ส่วนเรื่องอคติในการนำเสนอ ส่วนตัวมองว่าสื่อโทรทัศน์ยังมีพื้นที่ตรงกลางมากกว่าสื่ออื่น และ Dark Side มาจากสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อหลัก
สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิด Active และ Informed Citizen หรือการส่งเสริมความเป็นสังคมประชาธิปไตยของข่าว ขณะที่ หน้าที่ในการสนับสนุนความเป็นพลเมืองของสื่อก็ต้องมีอยู่ต่อไป
ต่อด้วยการเสวนา “สังคมได้อะไร จากข่าวโทรทัศน์” ที่วงเสวนาประกอบด้วยนักวิชาการด้านสื่อ ด้านสังคม และตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อให้ความเห็นต่อผลการศึกษา และให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาคุณค่ารายการข่าวโทรทัศน์ต่อสังคม
สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า
หัวข้อในวันนี้ เป็นหัวข้อที่คนสงสัยและคลางแคลงใจกันมาก ตอนที่เรามีช่องโทรทัศน์ 6 ช่อง (3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส) ในอดีตและกำลังเข้าสู่การประมูลช่องโทรทัศน์เพิ่มในระบบดิจิตอล แต่กลับพบว่าในปัจจุบันที่มีช่องโทรทัศน์ มากขึ้น รายการต่างๆ กับมีความเหมือนกันหมด ไม่ได้มีความแตกต่างในเนื้อหาและประชาชนค่อนข้างผิดหวัง
ทำไมทีวีดิจิตอลจึงยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
1. การเริ่มต้นของช่องทีวีดิจิตอล เป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ไม่มีผู้ผระกอบการทางธุรกิจมาซื้อโฆษณาในช่องต่างๆ
2. อุปกรณ์ในการรับชมไม่มีความพร้อม
สองปัจจัยนี้ ทำให้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอลไม่กล้าที่จะลงทุนและผลิตเนื้อหารายการในเชิงคุณภาพ เพราะไม่มีทุนสนับสนุน และการเข้าถึงยาก และประกอบกับในช่วงที่เกิดทีวีดิจิตอลเป็นช่วงเดียวกับที่ระบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทในสังคม ทำให้เกิดการสร้างสื่อจากประชาชนเอง หรือประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวในระบบออนไลน์ได้ด้วยต้นทุนต่ำ และคนดูก็อยากดูข่าวผ่านระบบออนไลน์มากกว่า เพราะง่ายกว่าการเข้าถึงทีวีดิจิตอล
คุณพิชัย วาสนาส่ง เคยบอกไว้ว่าข่าวมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1) ข่าวที่ต้องรู้ 2) ข่าวที่ควรรู้ และ 3) ข่าวที่คนอยากรู้ แต่ข่าวที่ต้องรู้ ซึ่งเป็นข่าวสำคัญกลับไม่สามารถนำมาเป็นข่าวพาดหัวได้ เพราะคนไม่สนใจ
ระบบ Rating เป็นกับดักที่ทำให้โทรทัศน์ไปไหนไม่ได้ เพราะโฆษณามักจะเข้ามาและจะให้ตาม Rating ทำให้รายการดีๆ แต่ Rating ไม่ดี ไม่มีโฆษณาและรายได้เข้ามา โดยวิธีการวัด Rating เป็นการติดตั้งกล่องวัดที่บ้านประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีค่าตอบแทนในการวางกล่องปีละ 1 พันบาท ทำให้กล่องวัดส่วนใหญ่ติดตั้งอยู่ในบ้านที่อยู่ในชุมชนแอดอัดมากกว่าบ้านของชนชั้นกลาง และคนในชุมชนมักเลือกดูรายการที่สร้างความบันเทิงหรือข่าวเร้าอารมณ์ มากกว่ารายการที่นำเสนอข้อมูลจำเป็นๆ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเครียด ทำให้ผลของการวัด Rating จึงออกมาว่ารายการบันเทิง ละคร มี Rating สูงกว่ารายการข่าวหรือสารคดี เราพยายามต่อสู้เรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยการหารือกับบริษัทที่ทำเรื่องวัด Rating ให้เปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผล เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจากการชมของผู้ชมมากขึ้น
ในเรื่องการกำกับดูแลสื่อซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ พบว่า ยังมีที่ทำผิดจริยธรรมแต่บทลงโทษไม่เท่ากัน ถ้าสื่อมีความรับผิดชอบสูง การกำกับดูแลก็จะน้อยลง เหมือนกับในต่างประเทศที่พลเมืองมีความรับผิดชอบสูง ข่าวโทรทัศน์จะมีคุณภาพสูงตามไปด้วย จึงมีคำกล่าวว่า คุณภาพข่าวโทรทัศน์ บ่งบอกคุณภาพคนคุณภาพสังคมของประเทศนั้นๆ
8 ปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล ทำเพื่อความอยู่รอด 7 ปีที่เหลือนี้ เราจะพยายามพัฒนาให้ระบบ Rating สามารถสะท้อนคุณภาพของรายการได้จริงและทำให้รายการที่มีคุณภาพ สามารถหาโฆษณาได้ ขณะที่ กองทุนสื่อฯต้องช่วยพัฒนาวิชาชีพสื่อในการนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เหมือนกับที่ตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาเรื่องการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ที่นำทุนจาก กสทช.ไป 600 ล้าน เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ แต่ประชาชนทั่วไปที่ดูผ่านระบบดิจิตอลกลับดูไม่ได้ คนที่ดูได้คือการดูผ่านจานดาวเทียม ซึ่งมีจำนวนมากถึง 60% ซึ่งผิดกฎ Must Carry และทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเสียโอกาสในการจัด Rating จากเรื่องนี้
สมัยก่อน รายการข่าว จะชื่อว่า ข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ข่าวเย็น ข่าวค่ำ ยุคสมัยที่ข่าวเน้นการเรียก Rating และคนดู การตั้งชื่อรายการก็ต้องให้น่าสนใจ ทั้งทุบ ทั้งโชว์ ทั้งแหกโค้ง
เรารู้ว่าข่าวที่มีในตอนนี้เป็นข่าวที่ไม่มีประโยชน์ แต่คนก็ยังชอบดู พวกเรารู้สึกและอาย อยากพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับข่าวโทรทัศน์ให้มากกว่านี้
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
จากหัวข้อในวันนี้ คือ สังคมได้อะไรจากข่าวโทรทัศน์ จริงๆ แล้วมองว่ามีทั้งคนบางกลุ่มที่ได้และไม่ได้อะไร ดังนั้น เราอาจจะต้องย้อนกลับไปดูว่า คำว่า “สังคม” นั้นหมายถึงใคร และจากผลการวิจัยบอกว่าดูจาก Rating ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อมูลจริงทั้งหมด เพราะปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และคนที่เข้ามาให้ความเห็นเรื่องสื่อโทรทัศน์ อาจจะไม่ใช่ผู้รับสื่อตัวจริง
ในฐานะที่ตัวเองเคยสัมผัสและเป็นคนทำสื่อมาก่อน ตอนนี้คนทำสื่อมีความกดดันเหมือนกำลังแบกภาระใหญ่ของสังคมอยู่ จากงานวิจัยชิ้นนี้ เราจะเห็นคำหนึ่งคือ “เร้าอารมณ์” เป็น Key message ที่ส่งผลต่อ Rating โดยตรง
อยากฝากอย่างหนึ่งว่าเราไม่เห็นความแตกต่างจากการนำเสนอเนื้อหาในข่าวโทรทัศน์ จากการนำเสนอในคลิปที่บอกว่า Rating ไปอยู่ที่ช่องโทรทัศน์ดิจิตอลหลายๆ ช่อง ซึ่งเนื้อข่าวไม่ได้แตกต่างกัน แต่ต่างกันที่ลีลานำเสนอ การขยี้ข่าว และการละเมิดสิทธิ์ที่มากกว่ากัน ดังนั้น หากดูจากหัวข้อเสวนาวันนี้ อาจจะต้องย้อนไปถามเจ้าของธุรกิจสื่อหรือรายการข่าวมากกว่า การทำธุรกิจอาจจะทำให้เจตจำนงค์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไป
ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักข่าวมาก่อน มองว่าเราคือ Gate Keeper คนแรกที่จะเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำข่าวอะไร แต่ถ้าเราไม่ทำข่าวที่ทุกคนทำ เราจะโดนบรรณาธิการตั้งคำถามแน่นอน อยากฝากบรรณาธิการข่าวทั้งหลายว่า สังคมจะได้ประโยชน์จากการเลือกนำเสนอของเรา และปัจจุบันโปรดิวเซอร์รายการมีอิทธิพลต่อรายการข่าวมากกว่าบรรณาธิการข่าว
การนำเสนอข่าวมีเรื่องของบริบททางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ และส่วนหนึ่งเป็นความไม่แข็งแรงของคนทำข่าว/ สื่อด้วยกันหรือไม่ ทั้งจากกรณีปลากุเลาตากใบและเรื่องราวในสภา ตอนนี้เราเห็นแต่ความเงียบของสื่อ หรือในกรณีข่าวลุงพล คนในวงการสื่อก็พูดถึงเรื่องนี้กันเยอะมากในประเด็นจริยธรรมการนำเสนอ แต่สุดท้ายเราก็ปล่อยให้ข่าวนี้ยังมีอยู่ต่อไป ทำให้เห็นว่า แมลงวันก็ยังไม่ตอมแมลงวันด้วยกันอยู่ดี
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า
จากการดูคลิปนำเสนองานวิจัย ไม่ได้ประหลาดใจกับผลที่ออกมา แต่มันช่วยยืนยันความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ คำถาม คือ แล้วอย่างไรต่อ? ผมคิดว่านักวิชาการอย่างเราที่ห่วงใยกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสื่ออยู่คนละมิติกับคนชมข่าวโทรทัศน์ ตอนนี้กลุ่มคนที่ชมข่าวโทรทัศน์เปลี่ยนแปลงไป การที่เราบอกว่าการนำเสนอข่าวเป็นการเร้าอารมณ์ อาจจะเป็นการมองคนละ Server กับผู้ชม ชาวบ้าน ที่ต้องการชมข่าวแค่นั้น ต้องการข้อมูลแค่นั้น ทั้งข่าวอาชญากรรมและข่าวบันเทิง เพื่อสามารถเอาไปพูดคุยกับคนรอบตัวได้ คือ คนกลุ่มนี้ชมข่าวเพื่อความผ่อนคลายเท่านั้น
ผมมองว่าระบบ Rating เป็นตัวขยายที่สำคัญ และต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ในการทำทีวีดิจิตอลอย่างมากเพราะเป็นส่วนที่สร้างรายได้สำคัญ แต่เรากลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ดังนั้น คนทำรายการข่าวจึงต้องทำข่าวให้ได้ Rating ซึ่งก็เป็นคนละ Server กับเรา (นักวิชาการ) แต่เราจะทำอย่างไรให้สองอย่างนี้สามารถนำมาปรับร่วมกันได้
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
ผมคิดว่าการชมข่าวในตอนนี้ เราได้ทั้งเนื้อหาและการเล่าเรื่อง ซึ่งปัจจุบันการเล่าข่าวมีรูปแบบที่หลากหลาย แล้วเราได้อะไรกับการนำเสนอข่าวแบบนี้? นี่คือโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผม อีกโจทย์คือ เราจะเตรียมคนของเราอย่างไรให้มีความรู้เท่าทันสื่อ ที่อาจมองเป็นเรื่องภายนอก ไม่ได้เป็นเรื่องของเรา ก็ท้าทายว่าการศึกษาและการเรียนรู้จะสร้างสมรรถนะเหล่านี้ได้อย่างไร และโจทย์สุดท้ายคือ พลเมืองจะต้องสะท้อนว่าเราไม่ต้องการสื่อหรือข่าวแบบนี้
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว
“ขอขอบคุณ องค์ปาฐก ท่านวิทยากร แขกผู้มีเกียรติ และ สื่อมวลชนทุก ๆ ท่าน ที่ได้เข้าร่วมการสัมมนา Media Alert ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “สังคมได้อะไร จากข่าวโทรทัศน์” ในวันนี้
นอกจากงานในวันนี้ จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของของรายการข่าวที่มีผลต่อการพัฒนาพลเมืองแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแความเห็นที่สำคัญ เช่น เรื่องของอุดมการณ์ทำงานของนักข่าว และอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ การถูกลดบทบาทของกอง บก.ข่าว ซึ่งทำให้เราอาจต้องมองหาแรงจูงใจในการทำข่าวใหม่ หน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อที่มีทั้งการ Inform, Educate และ Entertain รวมถึงความสำคัญในการเรื่องการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้กับสังคมไปพร้อมๆ กัน เป็นต้น ทั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างโจทย์ใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกันระหว่าง กสทช. ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ กองทุนสื่อฯ ที่ทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และในขณะเดียวกันก็เป็นการร่วมหาแนวทางเพื่อพัฒนาผู้ชมชาวไทยกลายเป็นพลเมืองโลกผ่านการชมข่าว
Media Alert เป็นโครงการภายใต้แผนการทำงานของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีภารกิจในการนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์สภาพการณ์สื่อและพฤติกรรมการเปิดรับและการใช้สื่อของสังคม อย่างมุ่งหวังสร้างเสริมวัฒนธรรมการคิดวิเคราะห์ในการสื่อสาร การเปิดรับและการใช้สื่อ เพื่อส่งเสริมนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ Media Alert เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นที่สำคัญหรือเป็นที่สนใจของสื่อและการสื่อสารออนไลน์ ด้วยหลักทางวิชาการที่เชื่อถือได้ และด้วยวิธีการเพื่อให้ทันความสนใจและการนำไปใช้ประโยชน์ของสังคม โดยใช้พื้นที่เพจ Media Alert เผยแพร่ผลงานการศึกษา และบทความ ของโครงการ รวมทั้งอัปเดตข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ต่าง ๆ ของสื่อและการสื่อสารของสังคม ซึ่งเพจ Media Alert ก็ได้รับความสนใจติดตามในระดับที่น่าพอใจ เพื่อเทียบกับระยะเวลาดำเนินการเพียงร่วม 2 ปี
ข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้เข้าร่วมงานในวันนี้ ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ การทำงานเพื่อส่งเสริมคุณค่าและประโยชน์ของข่าวโทรทัศน์ต่อสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่า เราทุกคนมีส่วนในการร่วมสร้างนิเวศสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์”